แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การเมืองของผู้ทรงศีลธรรม

ที่มา ประชาไท



ดิฉันไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ ไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ กระนั้น ในฐานะของประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เลิกเล่นกีฬาสีมาตั้งแต่จบชั้นมัธยม ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางการเมืองบนท้องถนนของ ม็อบคุณสุเทพในช่วงนี้
สิ่งที่สะกิดใจและสร้างความฉงนให้แก่ดิฉันมากคือการชูประเด็นเรื่อง ศีลธรรมเป็นประเด็นหลักในการชุมนุมทางการเมืองเพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครอง
เมื่อเขียนเป็นสมการ จะได้ดังนี้
นักการเมืองคอร์รัปชั่น = นักการเมืองเลว = ต้องหาคนดีมีศีลธรรมมาปกครองประเทศ
สมการดังกล่าว เมื่ออ่านทบทวนดูแล้ว ดิฉันพบว่ามีความน่าสนใจดังนี้
1. นักการเมืองคอร์รัปชั่น
ดิฉันไม่ปฏิเสธว่านักการเมืองคอร์รัปชั่น นักการเมืองบางคนคอร์รัปชั่นจริง ๆ เช่นเดียวกับที่ดิฉันไม่ปฏิเสธว่าข้าราชการประจำหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน คอร์รัปชั่น หรือพนักงานบริษัท ก. หรือ ข. หรือ ค. ฯลฯ บางคนคอร์รัปชั่น หรือพระบางรูปคอร์รัปชั่น ถ้าเรามองโลกอย่างที่มันเป็นอยู่จริง ๆ เราจะเห็นว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเกิดขึ้นทั่วทุกสาระแหง และในทุกวงการ ที่สำคัญ ไม่ได้แปลว่าทุกคนในวงการนั้น ๆ จะคอร์รัปชั่น แต่ก็เป็นไปได้อีกว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไม่เคยคอร์รัปชั่น ระบบการจ่ายเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะให้โรงเรียนดัง ๆ เป็นการคอร์รัปชั่นหรือไม่ ถ้าใช่ ทำไมถึงไม่มีใครลุกขึ้นมาประท้วง ทำไมการคอร์รัปชั่นทางตรงที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา จึงได้รับการยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานที่ใช้ปฏิบัติกันทั่วไปในสังคมได้ หรือการที่พระบางรูปยักยอกเงินบริจาคของวัด ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ก็ไม่เห็นมีใครออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ปฏิรูประเบียบสงฆ์ หรือเรียกร้องให้วัดต้องเปิดเผยบัญชีเงินได้และเสียภาษีเหมือนกับองค์กรที่ มีรายได้อื่น ๆ
เวลาที่เราพูดกันถึงเรื่อง "คอร์รัปชั่น" ดิฉันสงสัยว่า คนที่พูดรู้ตัวหรือเปล่าว่าคุณกำลังพูดถึงสังคมในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ ดิฉันเดาว่าคงไม่รู้ เพราะดูเหมือนทุกคนจะเข้าใจว่าตัวเองกำลังพูดถึงเรื่องศีลธรรมจริยธรรม ซึ่งดิฉันคิดว่าตรงนี้คือปัญหา เพราะมิติในเชิงศีลธรรม มันไม่ได้บอกเล่าข้อเท็จจริงแก่เราว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ที่ดิฉันพูดอย่างนี้ เพราะเวลาที่ดิฉันคุยกับบรรดาเพื่อน ๆ ญาติ ๆ ผู้เป็นเดือดเป็นแค้นเสียเหลือเกินกับการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ดิฉันกล้าพูดได้ว่า 99% ของคนเหล่านี้ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบทุนหรือกลุ่มทุนในเมืองไทยเลย ไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยคือกลุ่มใดบ้าง และกลุ่มเหล่านี้เป็นเจ้าของธุรกิจอะไรบ้าง เมื่อคุณขาดความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในเมือง ไทย คุณจะมองออกหรือว่าใครกันแน่ที่เป็น player ตัวจริงที่มีผลประโยชน์มากมายมหาศาลยึดโยงอยู่กับการเมืองระดับประเทศ แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าคุณจะไม่สองมาตรฐาน คือพยายามกล่าวโทษว่าคนกลุ่มหนึ่งคอร์รัปชั่น ขณะที่ยกเว้นโทษให้แก่คนอีกหลายกลุ่ม
ถึงที่สุดแล้ว ดิฉันคิดว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเป็นประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ เพราะมันยึดโยงอย่างแนบแน่นกับผลประโยชน์อันเป็นทรัพย์สินที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเงินสด ที่ดิน บริษัท มูลค่าหุ้น ฯลฯ ดังนั้น สำหรับบรรดาผู้พิทักษ์ศีลธรรมทั้งหลาย ดิฉันขอแนะนำให้คุณลองมองโลกในเชิงเศรษฐศาสตร์ดูบ้าง และลองหาความรู้เกี่ยวกับกลุ่มทุนใหญ่ ๆ ในบ้านเราไว้บ้างก็ดี เพราะถ้าคุณจะ impose หลักศีลธรรมไปที่คนอื่น คุณก็ควรจะกระทำอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ใช่หรือไม่
2. นักการเมืองเลว = ต้องหาคนดีมีศีลธรรมมาปกครองประเทศ
ดิฉันสงสัยว่าในมโนทัศน์ของผู้ร่วมชุมนุมประท้วงครั้งนี้ พวกเขามองว่านักการเมืองเลวทุกคน หรือแค่บางคน เพราะมันมีนัยยะต่างกันมาก เหมือนกับเราบอกว่านักบัญชีเลว หมอเลว วิศวกรเลว ผู้พิพากษาเลว เป็นต้น เราคงไม่ได้หมายความแบบเหมารวมถึงนักบัญชีทุกคน หมอทุกคน ฯลฯ แต่ถ้าผู้ชุมนุมมีทัศนคติต่ออาชีพนักการเมืองว่าเลวแบบเหมาเข่งจริง ๆ ก็น่าคิดว่า ทัศนคติเชิงลบแบบสุดโต่งนี้มีที่มาอย่างไร เพราะถ้าลองหันไปมองการเมืองนอกประเทศดูบ้าง เช่นในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งอย่างในทวีปยุโรปตะวันตกหรือ อเมริกาเหนือ หรือในเอเชียก็เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เราจะไม่เคยได้ยินการประณามคนอาชีพใดอาชีพหนึ่งว่าเลวเสมอหน้าเท่ากันหมด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันผิดธรรมชาติ ดิฉันเกรงว่าทัศนคติแบบสุดโต่งดังกล่าว อาจจะไม่ต่างกันนักกับอคติแบบ  -ism ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น racism (การเหยียดชาติพันธุ์) sexism (การเหยียดเพศ) ฯลฯ อันเป็นอคติที่แสดงถึงจิตใจและโลกทัศน์อันคับแคบ ล้าหลัง และบิดเบือน หรือว่าคนไทยเรากำลังพยายามบัญญัติคำศัพท์ใหม่ คือ careerism (การเหยียดอาชีพ) กันอยู่คะ
เวลาที่ดิฉันรับทราบข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ สิ่งที่ดิฉันได้ยินคือการถกเถียงกันในเรื่องนโยบายต่าง ๆ เช่น การทำแท้ง การแต่งงานของคนรักร่วมเพศ การประกันสุขภาพ การเรียนฟรี ฯลฯ แต่จะไม่เคยได้ยินการถกเถียงกันเรื่องนักการเมืองเลวหรือคอร์รัปชั่นเลย ดิฉันไม่เชื่อว่าในประเทศเหล่านั้นจะไม่มีนักการเมืองขี้โกง แต่ทำไมพวกเขาถึงไม่เถียงกันเรื่องนี้ล่ะ
ตามความเข้าใจของดิฉันนั้น จุดยืนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา หรือที่เรียกว่า left-right politics การเมืองแบบซ้าย-ขวานี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อการเมืองเปลี่ยนมือมาอยู่กับภาคประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาขณะนั้นคือคนแบ่งออกเป็น 2 ฟากฝ่าย คือฝ่ายหัวก้าวหน้าที่ฝักใฝ่อุดมการณ์แบบเสรีนิยม (ฝ่ายซ้าย) และฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนสถาบันและอุดมการณ์แบบจารีตประเพณี (ฝ่ายขวา)
ถ้าไปดูนโยบายของพรรคฝ่ายซ้ายในปัจจุบัน เช่น พรรคแรงงาน (Labour) พรรคกรีน (Green) ในอังกฤษ และพรรคเดโมแครต (Democratic) ในสหรัฐอเมริกา เราจะพบว่าพรรคเหล่านี้ชูนโยบายที่สนับสนุนอุดมการณ์แบบฝ่ายซ้าย เช่น การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการ การออกกฎหมายควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่ การผลักดันกฎหมายที่คุ้มครองคนชายขอบในสังคม การออกกฎหมายรับรองการทำแท้ง กฎหมายที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน การออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะที่พรรคฝ่ายขวา เช่น พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ในอังกฤษ และ พรรครีพับลิกัน (Republican) ในสหรัฐฯ ก็จะชูนโยบายที่สนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่และสถาบันหลักของสังคม เช่น ส่งเสริมนโยบายการค้าเสรี คัดค้านการทำแท้ง คัดค้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เพิ่มบทบาทและอิทธิพลของศาสนาหลัก ส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยม กีดกันคนต่างชาติ เป็นต้น*
เมื่อหันกลับมามองการเมืองไทย ก็เกิดคำถามว่า ทำไมเราจึงไม่ถกเถียงกันถึงเรื่องนโยบายต่าง ๆ  แต่กลับไปหมกมุ่นอยู่กับประเด็นนักการเมืองเลวและการเฟ้นหาคนดีมีศีลธรรม ขึ้นมาบริหารปกครองประเทศกันนัก
นั่นแปลว่านักการเมืองไทยมันเลวบริสุทธิ์กว่าที่อื่นใดในโลก จนการบริหารปกครองประเทศมันดำเนินต่อไปไม่ได้ ถ้าไม่ขจัดนักการเมืองเลว ๆ เหล่านี้ออกไปให้สิ้นซากเสียก่อน ?
หรือแปลว่าคนไทยส่วนหนึ่งดันเชื่ออย่างสุดใจว่า บทบาทหน้าที่ในการบริหารปกครองประเทศ ควรจะต้องสงวนไว้ให้เป็นกิจธุระของคนดีมีศีลธรรมเท่านั้น ?
ตรรกะ 2 แบบข้างบนนี้ ไม่ว่าอันใดจริง ก็ให้ผลไม่ต่างกัน เพราะมันคือสองหน้าบนเหรียญอันเดียวกัน
และเป็นเหรียญที่ถูกโยน ถูกปั่น ถูกเล่น ถูกใช้เดิมพันมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วในประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็แค่อยากถามใจคนไทยผู้มีศีลธรรมสูงส่งทั้งหลายว่า พวกท่านอยากจะให้ลูกหลานของท่านเติบโตขึ้นมาในสังคมที่เห็นพวกเขาเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกัน และให้โอกาสพวกเขาถกเถียงกันถึงนโยบายที่มีผลผูกพันกับชีวิตและปากท้องของ พวกเขาได้โดยเสรี หรือว่าพวกท่านอยากเห็นลูกหลานของท่านจมปลักอยู่ในสังคม ของพวกยอดมนุษย์ ที่ไม่มีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา หากแต่แบ่งออกเป็นพวกข้างบนกับข้างล่าง กันแน่ ?
                                            
                                                               ---------------------------
หมายเหตุ *พรรคที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นพรรคกระแสหลัก (mainstream) ที่มีจุดยืนค่อนมาตรงกลาง ๆ คือเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่นโยบายไม่สุดโต่ง ถ้าต้องการดูนโยบายของฝ่ายซ้ายจัด ก็ลองดูพรรค SWP (Socialist Workers Party) ของอังกฤษ ส่วนฝ่ายขวาจัด ก็ลองดูพรรค BNP (British National Party) ของอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น