แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

.......ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ?

ที่มา ประชาไท



การเลือกตั้ง สส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นผลตามรัฐธรรมนูญ เนื่องมาจากการยุบสภาฯ  ได้กลายเป็นการเลือกตั้งที่มีความหมายมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สำหรับฝ่ายหนึ่ง การล้มการเลือกตั้งได้หมายถึง ชัยชนะเบื้องต้นของการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยสามานย์ แต่สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งการล้มการเลือกตั้งในวันดังกล่าว คือ การรัฐประหาร และการถูกเหยียดว่าเป็นคนไม่เท่ากัน

ในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา วันเดียวกับการเตรียมการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ที่กลางเมืองหลวง ในขณะเดียวกันบนที่ราบสูงในวงล้อมทิวเขาภาคอีสาน ที่ซึ่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือไปไม่ถึง มีการรวมตัวกันของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งในงาน “บุญบรรจุอัฐิและรำลึกวีรชนนักรบประชาชน เขตงาน 666 ดงมูล ครั้งที่ 4”

การ รวมตัวกันของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในยุคนี้ อาจดูเป็นเรื่องชวนหัว กระนั้นก็ตาม เสียงเล็กๆของคนเหล่านี้ก็มีนัยสำคัญที่ควรรับฟัง

พื้นที่ดงมูล ปัจจุบันอยู่ในเขต ต. ดงมูล อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์  พื้นที่นี้ในอดีตโดยเฉพาะในทศวรรษ 2500 - 2510 เป็นเขตเคลื่อนไหวและเป็นเขตฐานที่มั่นแห่งหนึ่งของ พคท. พื้นที่นี้เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากเขตงานภูพาน ในเขตจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญ การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ พคท. กับกองกำลังของรัฐ ยุติลงในปี พ.ศ. 2523 ภายใต้นโยบาย 66/2523  ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร สมาชิก พคท. ได้วางอาวุธ ยุติการเคลื่อนไหว และเข้าสู่การปรองดองกับรัฐในนาม ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

การ จัดงานรำลึกจัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2552 มีการนำอัฐิของ “นักรบประชาชน” ทั้งที่เสียชีวิตในช่วงการต่อสู้และหลังจากนั้น รวบรวมมาไว้ที่อนุสรณ์สถานนักรบประชาชน ในงานรำลึกประจำปีครั้งนี้ ได้มีพิธีนำอัฐิของ นายสุพล เมืองฮาม (สหายไท) ที่เพิ่งเสียชีวิต มาบรรจุในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ด้วย



แม้ว่าจะเป็นงานรำลึกอดีต แต่งานนี้มีความเชื่อมโยงกับการเมืองในปัจจุบันโดยตรง บนเวทีจัดงานมีฉากหลังเป็นข้อความ “ต่อต้านอำนาจนอกระบบ พิทักษ์ประชาธิปไตย” ใน แถลงการณ์ที่แจกจ่ายในงาน ยืนยันหลักการ “รัฐบาลต้องไม่ลาออก ปกป้องประชาธิปไตย ประชาชนไทยต้องการเลือกตั้ง” แถลงการณ์สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. และชักชวนให้กลุ่มพลังมวลชนทุกหมู่เหล่าออกมาแสดงตัวตนปกป้องการเลือกตั้ง และระบอบประชาธิปไตย “งานนี้ไม่ใช่แค่การรำลึกถึงนักรบประชาชนในอดีต แต่เราต้องการแสดงท่าที่ทางการเมืองของเราต่อสถานการณ์ปัจจุบัน” แกนนำการจัดงานกล่าว

ผู้มาร่วมงานในวันนี้มาจากหลายแห่ง ใน“เขตงาน 666 ดงมูล” ซึ่งกินพื้นที่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์-ขอนแก่น และยังมีผู้ที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงด้วย คนเหล่านี้เป็นอดีตสหายเก่าผู้สูงวัย หรือลูกหลานของอดีตสหายเหล่านั้น ไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่าคนเหล่านี้ มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง การพูดคุยกับพวกเขาหลายคน มีความเห็นที่ชัดเจนไปในทางเดียวกันพอที่จะสรุปได้ว่า พวกเขาเห็นว่า การ เคลื่อนไหวของ กปปส. เป็นการทำลายประชาธิปไตย มีความคิดดูหมิ่นคนชนบท และไร้เหตุผลมากขึ้นเป็นลำดับ ความเห็นที่มีร่วมกันอย่างชัดเจนคือ การไม่ยอมให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป และหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งพวกเขาคาดว่าจะมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง จากประชาชนทั่วไป

ที่น่าสนใจคือความรู้สึกที่สะท้อนอุณหภูมิในหัวใจที่สวนทางกับอากาศเย็นเยียบ
“อย่าคิดว่าชาวบ้านเขาไม่รู้ประสีประสา ชาวบ้านในหมู่บ้านผมเขาคุยกันตลอด เขารู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง “
“(เรื่อง คนมีเสียงเลือกตั้งไม่เท่ากัน) อย่าดูถูกกันเกินไป ชาวบ้าน “เคียดหลาย” (โกรธมาก) กับเรื่องนี้ สมัยนี้คนมันเท่ากัน มีหลายคนที่ไม่สนใจการเมือง แต่ได้ยินคำพูดแบบนี้ เขาบอกว่า จะให้ไปชุมนุมที่ไหนก็ไป”
“ถ้าล้มเลือกตั้ง ประชาชนออกมาแน่  เราคุยกันแล้ว ตอนนี้แค่ยังไม่ตกลงว่าจะใช้วิธีไหนแค่นั้น”
“เราคุยกันว่าถ้าออกไปคราวนี้ต้องจบ ไม่ใช่คาราคาซัง แล้วกลับมาเหมือนปี 53 คราวนี้มีคนยอมตายเยอะนะ”
ผู้ให้ข้อมูลอีกท่านหนึ่ง เป็นหญิงอายุราว 30 ปีเศษ เธอมีอาชีพขับรถรับส่งนักเรียน อาศัยอยู่ในเมืองขอนแก่น มาร่วมงานนี้ในฐานะที่เป็นคนรุ่นหลานของสหายท่านหนึ่ง เธอเล่าว่า ในเมืองขอนแก่นมีคนเสื้อแดงจำนวนมาก และตอนนี้เรื่องการล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นประเด็นสำคัญ พวกเธอเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงอิสระ แต่ก็รับข่าวสารจากทีวีเสื้อแดง และการเคลื่อนไหวก็จะไปร่วมกับ นปช. การสื่อสารในกลุ่มใช้อินเตอร์เน็ต และบางครั้งส่งต่อข้อมูลด้วยการแจกจ่ายแผนซีดี เธอเล่าว่า ชาวบ้านรู้ดีว่าวิกฤตการณ์เมืองครั้งนี้เป็นสงครามระหว่างใครกับใคร ถ้าล้มเลือกตั้งมีคนออกมาเยอะแน่ และไม่ใช่คนเสื้อแดงเท่านั้น แต่มีคนไม่เห็นด้วยอีกเยอะ
“เรื่องแยกประเทศ มีคนพูดกันนะ เป็นแค่การพูดเล่นๆ แต่ก็เป็นเรื่องน่าคิด” เธอกล่าว
อีกท่านหนึ่ง เป็นแกนนำซึ่งอยู่ในตำบลพื้นที่จัดงาน เป็นเกษตรกรเกษียณอายุ เลี้ยงตัวเองด้วยเงินส่งกลับจากลูกที่ไปเปิดร้านขายอาหารที่กรุงเทพฯ นอกเหนือจากจุดยืนที่ชัดเจนในการคัดค้านอำนาจนอกระบบ และต้องการให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. แล้ว เขาสะท้อนความเห็นของคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งว่า พวกเขารู้สึกผิดหวังกับการทำงานของพรรคเพื่อไทยในบางเรื่อง  โดยเฉพาะเรื่อง พรบ. สุดซอย ที่หันไปนิรโทษแก่แกนนำ แทนที่จะนิรโทษกรรมแก่ประชาชนธรรมดา  เรื่องนี้เป็นเหตุให้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งลำบากใจที่จะออกไปปกป้องรัฐบาลใน ช่วงที่ผ่านมา  “อย่างน้อยพรรคควรจะขอโทษคนเสื้อแดง โดยเฉพาะต่อคนที่ยังอยู่ในคุก”

กลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่นี้ มีความคิดและการเคลื่อนไหวค่อนข้างเป็นอิสระต่อ สส. ในพื้นที่ เขากล่าวว่า “พวกเราต้องคุม สส. ไม่ใช่ให้ สส. คุมเรา” เขาพอจะทราบแนวคิดเรื่อง primary vote ที่เป็นการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยประชาชน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันต่อไป พร้อมกับการผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้ากว่าที่ผ่านมาด้วย

สำหรับเรื่อง การเลือกตั้งคราวนี้เขากล่าวว่า “งานนี้นายกฯปูถอยไม่ได้อีกแล้ว นายกฯต้องไม่ลาออก ต้องไม่เลื่อนวันเลือกตั้ง เราถอยมามากแล้ว ถ้านายกฯถอย ประชาชนก็จะไม่สนับสนุนเธออีกต่อไป” และ “ถ้านายกฯถอยเราจะจัดการกันเอง”

รายงาน นี้ ผู้เขียนไม่ประสงค์จะโฆษณาว่าลัทธิการเมืองเก่ากำลังฟื้นคืนชีพ (และก็ไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น) และไม่ได้คิดว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ เป็นตัวแทนความคิดของประชาชนทั่วไปในอีสาน พวกเขาเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่มีประวัติความเป็นมาจำเพาะเป็นกรณีพิเศษ แต่ถึงแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็น่าจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ยังมีคนอีกมากมายหลายกลุ่มในประเทศไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. อย่าคิดว่ากรุงเทพคือประเทศไทย อย่างหักหาญ ดูหมิ่นเพื่อนร่วมชาติจนอีกฝ่ายเกินจะอดทน โปรดฉุกคิดเห็นแก่ชีวิตคนไทยด้วยกัน จะไม่มีใครชนะเลยในสงครามครั้งนี้.


หมายเหตุ ขอขอบคุณภาพประกอบจากช่างภาพนิรนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น