แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ส่งท้ายปี ข่าวย่ำอยู่กับที่ ตอนที่ 1: การคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของพรรคประชาธิปัตย์

ที่มา ประชาไท


ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปกติจะมีการจัดอันดับสุดยอดด้านต่างๆ โดยสื่อหลากสำนัก และประชาไทได้พยายามหาประเด็นมานำเสนอทุกๆ ปี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กองบรรณาธิการเห็นว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างในประเทศไทยมีเพียงประเด็นวนเวียนและย่ำเท้าอยู่กับที่ จึงได้ทำการคัดเลือกประเด็นย่ำอยู่กับที่-วนลูป ของชาติมานำเสนอทดแทนการจัดอันดับพิเศษ
สำหรับประเด็นแรก คือการปฏิเสธการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในความทรงจำระยะใกล้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 และนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการผลักแนวทางการแก้ปัญหาตามระบอบประชาธิปไตยไปสู่ การออกนอกกติกา เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ ทวีพร คุ้มเมธา จึงเลือกไปสัมภาษณ์ประจักษ์ ก้องกีรติ เพื่อวิเคราะห์วิพากษ์ถึงการเดินซ้ำรอยเดิม ซึ่งประจักษ์ยังไม่ฟันธงว่าการปฏิเสธการเลือกตั้งหนนี้จะเปิดทางเชื้อเชิญ อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการปัญหาการเมืองไทยหรือไม่
พรรคประชาธิปัตย์ โดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพราะเชื่อว่า ระบบการเมืองของไทยล้มเหลว การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย นอกเสียจากต้องมีการปฏิรูปเสียก่อน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่เป็นครั้งที่สามแล้วที่พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดนี้ตัดสินใจคว่ำ บาตรการเลือกตั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2495ระหว่างที่ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนแรก หลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงครามทำการรัฐประหารตัวเองโดยให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรมครั้งที่สอง พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ คว่ำบาตรการเลือกตั้งร่วมกับพรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ในการเลือกตั้งเดือนเมษายนปี 2549 ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดย อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุบสภาโดยไม่ชอบธรรม การคว่ำบาตรทั้งสองครั้งตามมาด้วยวิกฤติความวุ่นวายทางการเมืองและการรัฐ ประหาร ในเดือนกันยายน 2500 และเดือนกันยายน 2549
พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ นำมาสู่คำถามว่า การเมืองไทยถอยหลัง หรือพรรคประชาธิปัตย์ต่างหากที่ไม่เดินหน้า จึงทำให้เกิดการตัดสินใจที่วนลูป ประชาไทคุยกับ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเช่นไร พรรคประชาธิปัตย์จะตายจากการเมืองไทยไปหรือไม่ และอะไรทำให้พรรคประชาธิปัตย์เดินเกมสุดโต่งเช่นนี้
ถาม: การที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักคว่ำบาตรการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะทำให้การเลือกตั้งนี้ไม่ชอบธรรมหรือไม่
มันไม่ขาดความชอบธรรม เพราะพรรคอื่นๆ ลงเลือกตั้งหมด สถานการณ์ไม่เหมือนปี 49 ที่พรรคฝ่ายค้านอื่นคว่ำบาตรการเลือกตั้งกันหมด แต่คราวนี้มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่คว่ำบาตรอยู่ฝ่ายเดียว กลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกโดดเดี่ยวเสียมากกว่า มันมีความสามารถในการแข่งขัน(competitiveness) อยู่ เพราะฉะนั้นแค่ลำพังพรรคเดียว ความชอบธรรมของการเลือกตั้งไม่หมดไป คงต้องถามมากกว่าว่า ทำไมมีพรรคเพียงพรรคเดียวที่คว่ำบาตรการเลือกตั้ง
ถาม: พรรคประชาธิปัตย์พยายามบอกว่า เขายังเล่นอยู่ในเกม เล่นในระบบเพราะเขาเป็นพรรคการเมือง อาจารย์เห็นว่าตอนนี้ประชาธิปัตย์ยังเล่นการเมืองในระบบหรือไม่
ถ้ายังเล่นในระบบจริงก็ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง พรรคการเมืองต่างจากกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างเช่นกลุ่มคุณสุเทพ พรรคการเมืองต้องดำรงอยู่เพื่อนำเสนอนโยบายต่อประชาชนผ่านการเลือกตั้งถ้า ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็เท่ากับขัดกับหน้าที่พื้นฐานของพรรคการเมือง มันเป็นการปิดโอกาสของผู้สนับสนุนพรรคอีกด้วย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีคนตั้ง 11-12 ล้านคนที่ลงคะแนนเลือกประชาธิปัตย์ในระบบสัดส่วน การคว่ำบาตรการเลือกตั้งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้เขามีทางเลือก ในแง่นี้คือพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ในระบบได้ เพราะระบบกำหนดให้คุณในฐานะพรรคการเมืองต้องแข่งขันในการเลือกตั้ง และขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง แล้วถามว่าการปฏิรูปที่คุณอยากเห็นก็ทำได้ในทุกประเทศ โดยการเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือกนั่นแหละ การปฏิรูปมันไม่ได้ขัดแย้งกับการเลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งคือการเสนอพิมพ์เขียนในการปฏิรูปสังคมแล้วก็ไปแข่งกันให้ ประชาชนเลือกว่าชอบพิมพ์เขียวแบบไหน ทั่วโลกเขาก็ทำอย่างนี้แหละ ไม่มีหรอกที่การปฏิรูปแยกต่างหากไปโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง
ถาม: ประชาธิปัตย์และผู้ต่อต้านระบอบทักษิณเขาอ้างว่า ทั้งระบบการเมืองไทยมันวิบัติหมดแล้ว ถ้าไปลงสมัครเลือกตั้งก็คือการยอมรับระบบนี้ เขาจึงไม่ยอมรับการเลือกตั้ง อาจารย์เห็นว่าอย่างไร
ก็ต้องถามว่า การเลือกตั้งไทยเป็นแบบไหน คนที่ศึกษาเรื่องการเลือกตั้งของไทยมา ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่าการเลือกตั้งของไทยมันบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น มันไม่เหมือนการเลือกตั้งสมัยปี 2500ที่สกปรก หรือการเลือกตั้งแบบในอินโดนีเซีย สมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ของอินโดนีเซียที่ใช้อำนาจข่มขู่คุกคามการเลือกตั้งจนทำให้ฝ่ายค้านหาเสียง ไม่ได้ หรือบีบบังคับให้คนต้องเลือกพรรครัฐบาล ของไทยมันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว มันเปลี่ยนแปลงเป็นการแข่งขันที่แท้จริงในการเลือกตั้งสี่ถึงห้าครั้งที่ ผ่านมา มันไม่มีการโกงอย่างมโหฬารแล้วอย่างในอดีตแล้ว
นอกจากนี้ ถ้าเกิดมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากสภาประชาชนของ กปปส. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถึงจุดนั้นคนอื่นก็จะคว่ำบาตรการเลือกตั้งเหมือนกัน ก็เท่ากับว่า พรรคประชาธิปัตย์จะลงแข่งในเกม กติกาที่ตัวเองกำหนดเท่านั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณเขาร่างขึ้นมาเอง นอกจากนี้ ระบบรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ที่เขาบอกว่าเป็นระบบที่มีปัญหา มันก็เป็นหนึ่งในระบบเลือกตั้งที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมตอน ที่คุณอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายก และได้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แก้ระบบเลือกตั้งกลับไปให้คล้ายรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ ระบบสัดส่วนแบบเขตประเทศไม่ใช่เขตจังหวัด และเขตเลือกตั้งก็เป็นแบบเขตเดียวคนเดียว และเพิ่มจำนวนที่นั่งของระบบสัดส่วน จาก 100 เป็น 125 ที่นั่ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าตัวเองทำได้ดีในระบบสัดส่วน ถ้าไปเพิ่มจำนวนที่นั่งตรงนี้ก็น่าจะได้จำนวน ส.ส. มากขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยแก้กฎกติการะบบการเลือกตั้งมาแล้ว ตอนนี้การเลือกตั้งมันก็เป็นระบบ เป็นรูปแบบที่คุณเลือกมาเองแล้ว เป็นรูปแบบที่คุณได้ประโยชน์มากที่สุด ก็เลยยิ่งเข้าใจไม่ได้ที่จะคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่ตัวเองร่างกฎกติกาขึ้นมา เอง
ถาม: พรรคประชาธิปัตย์เคยคว่ำบาตรการเลือกตั้งมาสองครั้งแล้วคือในปี 2495, 2549และครั้งล่าสุดนี้อาจารย์คิดว่า การตัดสินใจคว่ำบาตรการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์แต่ละครั้งมันต่างกันหรือ เหมือนกันอย่างไรบ้าง
จริงๆ มันก็เหมือนกัน เป็นข้ออ้างชุดเดิมเพื่อทำให้ตัวเองไม่ไปลงแข่งขัน มีการพูดถึงผลในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น คุณไปรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่าจะมีการโกงเลือกตั้ง หรือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือไปทึกทักได้อย่างไรว่าเลือกตั้งแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลง จริงๆ มันสะท้อนความอ่อนแอของพรรคตัวเองอยู่หรือเปล่า เพราะพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั่วโลกทั้งหลาย เขาลงเลือกตั้งโดยหวังว่าจะชนะเลือกตั้งได้ ถ้าไม่มีความหวังแล้วพรรคเดโมแครตของสหรัฐก็ต้องตัดใจยอมแพ้ไปแล้วสิหลังจาก ที่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสองสมัยซ้อน และได้ครองตำแหน่งถึงแปดปี แต่เดโมแครตเขาก็เลือกตั้งทุกครั้ง ไม่คว่ำบาตรการเลือกตั้ง เพราะแม้ว่าครั้งที่แล้วแพ้ ครั้งนี้ ครั้งหน้าอาจชนะก็ได้ ซึ่งถ้าพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอนโยบายที่ดีกว่าได้ ถ้าคุณเชื่อว่าเสียงทั้งประเทศอยู่ข้างคุณ แถมยังมีคนมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์เยอะขนาดนี้ ถ้าคุณเชื่อว่า คนห้า-หกล้านคนออกมาชุมนุมเมื่อมีการเลือกตั้งคุณก็น่าจะชนะถล่มทลายสิ อย่างน้อย ส.ส. ในกรุงเทพฯ และระบบสัดส่วนก็น่าจะได้คะแนนมากกว่านี้แน่ แต่ว่าแม้ในจังหวะที่คุณถึงจุดสูงสุด(peak) แล้ว คุณก็ยังตัดสินใจคว่ำบาตรการเลือกตั้ง มันอาจตั้งคำถามย้อนกลับไปได้ว่า คุณรู้ว่าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ได้สนับสนุนคุณจริง หรือก็คือ กลัวนั่นเอง
คราวนี้ การคว่ำบาตรการเลือกตั้งระหว่างครั้งที่แล้วกับครั้งนี้มันก็เหมือนกันแหละ แต่สิ่งที่ต่างคือ ครั้งที่แล้วประชาธิปัตย์ไม่ได้ไปนำม็อบเอง ตอนนั้นพันธมิตรเคลื่อนไหวปูทางมา แล้วประชาธิปัตย์ก็คว่ำบาตรการเลือกตั้งในฐานะพรรคการเมือง ในคราวนี้ ประชาธิปัตย์ทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น และเพื่อไม่ให้การเมืองในระบบมาเป็นวิถีทางในการแก้ปัญหา อันนี้เป็นจุดต่างเพราะเขาไปนำม็อบเอง มันคือการใช้ยุทธวิธีการคว่ำบาตรการเลือกตั้งไปสอดประสานกับการเคลื่อนไหวบน ท้องถนน เพราะฉะนั้นที่บอกว่าไม่เชื่อมั่นในระบบ ที่บอกว่าการเมืองในระบบแก้ไขไม่ได้ ก็เพราะประชาธิปัตย์เองนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้การเมืองใน ระบบมันแก้ไขไม่ได้ ก็คุณไปเลือกไปแก้ไขปัญหาบนท้องถนนตั้งแต่ต้น แล้วปิดทางแก้ไขปัญหาในระบบออกไปหมดเลย ต้องถามว่าใครทำให้การแก้ไขปัญหาในระบบมันถึงทางตัน ก็ประชาธิปัตย์เองนั่นแหละ
แล้วถ้าเราย้อนกลับไปดูพฤติกรรมในสภาของประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้คนเบื่อหน่ายพรรคการเมืองและ นักการเมือง แน่นอนพรรคเพื่อไทยมีปัญหาเยอะแยะ พฤติกรรมการผลักตันกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ส่วนหนึ่งที่คุณเบื่อหน่าย เพราะการประชุมสภาเละเทะส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะประชาธิปัตย์ด้วย เราคงจำได้กับ การทุ่มเก้าอี้ในสภา การป่วนในสภา การไปลากเก้าอี้ประธานรัฐสภา การใช้การอภิปรายที่หยาบคาย แทนที่จะพุ่งไปที่เรื่องนโยบาย การบอกว่า ไม่ลงเลือกตั้งเพราะคนเบื่อหน่ายการเมืองและนักการเมือง ต้องถามว่า ตัวเองมีส่วนไหมในการทำลายความน่าเชื่อถือของระบบรัฐสภา อย่าไปโทษคนอื่นแต่ฝ่ายเดียว

ถาม: ถ้าในที่สุดแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ร่วมในการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แล้วการเลือกตั้งก็เสร็จสิ้นไป ในสภาไม่มีส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์เลย นี่จะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ประชาธิปัตย์ค่อยๆ ออกไปจากการเมืองในระบบไปจนถึงตายไปในฐานะพรรคการเมืองเลยหรือไม่
คือการตัดสินคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และตัดสินใจเอาพรรคตัวเองไปผูกกับการเคลื่อนไหวของม็อบมันมีโอกาสสำเร็จที่ ริบหรี่มาก มันเป็นการเดิมพันที่สูง แล้วคุณไม่เผื่อทางหนีทีไล่ให้ตัวเองเลย ถ้าม็อบนี้ลงหรือแพ้แล้วจะเอาไงต่อในแง่การเป็นสถาบันทางการเมือง มันจบเลย ถ้าลงเลือกตั้งผมเชื่อว่า ความนิยมของประชาธิปัตย์จะมากขึ้น แต่พอไม่ลงเลือกตั้งครั้งนี้ ผมคิดว่า จะมีคนเสื่อมศรัทธากับประชาธิปัตย์มากขึ้น แล้วพรรคจะกลับมาสู่ระบบอย่างไร ยังมองไม่ออก
แล้วนี่ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียคะแนนเสียงและความนิยมในระยะยาว เพราะว่าความนิยมต่อนักการเมืองคนหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่งนั้นขึ้นกับผลงาน เป็นหลัก และการทำงานในพื้นที่และส.ส.ในพื้นที่ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าเขาจัดตั้งรัฐบาลกันได้ แล้วประชาธิปัตย์ไม่มีคู่แข่งเลย ในจังหวะที่ ส.ส. ประชาธิปัตย์หายไป ชาวบ้านเขาก็ต้องเห็นว่า ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นมาทำงานอะไรในพื้นที่บ้าง แล้วถ้าเขาทำงานได้ดี คนเขาก็จะเปลี่ยนไปเลือก ส.ส. จากพรรคนั้น ฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า ไม่ใช่ว่า ประชาธิปัตย์จะสูญเสียฐานที่มั่นในกับเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังมีพรรคอื่นๆ ที่พรรคเหล่านี้จะเข้าไปเกาะกุมพื้นที่และสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชน ก็คือกลายเป็นว่า ประชาธิปัตย์ทำหลายโอกาสของตัวเองที่จะสร้างความเข้มแข็งของพรรคให้มากขึ้น มันคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบสายตาสั้น เพราะถ้ามองในระยะยาวแล้วเมื่อคุณเป็นนักการเมืองแล้วยังไงคุณก็ต้องอยู่กับ การต่อสู้ในระบบ คุณจะออกมาต่อสู้ข้างถนนตลอดไปไม่ได้ นั่นไม่ใช่หน้าที่ของพรรคการเมือง แล้ววันหนึ่ง การชุมนุมของคุณสุเทพก็ต้องจบไป ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับบ้าน คุณสุเทพอาจต้องถูกดำเนินคดี การชุมนุมมันเป็นภาวะชั่วคราว แต่พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่ต้องดำรงอยู่ต่อไป ทำหน้าที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชนในระบบไปเรื่อยๆ
ถ้าประชาธิปัตย์ต้องการกำจัดระบอบทักษิณจริงๆ วิธีที่ดีที่สุดคือทำให้ตัวเองเป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่สามารถชนะการ เลือกตั้งในระบบได้ จะเป็นวิธีต่อสู้กับระบอบทักษิณที่ชอบธรรมที่สุด การได้อำนาจจากการตั้งสภาประชาชนที่เป็นเผด็จการเสียงส่วนน้อย มันไม่มีมีความชอบธรรม แต่ถ้าคุณชนะในระบบความชอบธรรมก็จะมีอยู่และจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ ในระยะยาว แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องมาสู้รบกันบนถนนอีก ถ้าเพราะประชาธิปัตย์ทำให้ตัวเองเป็นพรรคที่สามารถแข่งขันอย่างสูสีกับพรรค อื่นในระบบได้ผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์ก็ไม่ต้องขัดข้องใจจนรู้สึกว่าชีวิตจะ ไม่มีทางออกอีกแล้ว เขาก็แค่ต้องรอไปเลือกตั้งครั้งถัดไปเท่านั้นเอง และก็ไม่ต้องออกมาทำสงครามครั้งสุดท้ายตลอดเวลา แทนที่จะออกมาเป่านกหวีด ก็ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้งเลือกประชาธิปัตย์ให้ถล่มทลาย จะทำอย่างนั้นได้พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไม่ยอมแพ้กับการเมืองในระบบ
ทีนี้ จะชนะเลือกตั้งได้คุณต้องเกาะกระแสคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่เกาะกระแสคนส่วนน้อยที่เป็นอภิสิทธิ์ชน สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ทำพลาดมาโดยตลอดคือ เกาะติดกับฐานเสียงหรือกระแสที่ชอบตัวเองอยู่แล้ว ในกรุงเทพฯ ในเมือง แล้วก็ในภาคใต้ ซึ่งก็จะไม่มีทางชนะการเลือกตั้งได้ จะชนะการเลือกตั้งได้คุณต้องขยายฐานเสียงของคุณออกไป ไปโน้มน้าวแล้วก็ชนะใจคนที่เขาไม่เลือกคุณมาก่อน เช่น ในภาคอีกสาน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้สู้อยู่กับระบอบทักษิณหรอก แต่สู้อยู่กับคนอีก 15-16 ล้านคน ที่เขาไม่เคยเลือกพรรคคุณเลยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ เพราะถึงแม้จะกำจัดระบอบทักษิณออกไปได้แล้ว ถ้าคุณมีอะไรที่เป็นนโยบายที่จะไปตอบสนองคน 15 ล้านคนนั้น เขาก็ไม่เลือกคุณอยู่ดี คุณต้องชนะใจคนเหล่านี้ให้ได้คราวนี้ถามว่า ทำไมเขาไม่เลือกประชาธิปัตย์ อย่าตอบว่าเพราะเขาถูกซื้อเสียงทั้ง 15-16 ล้านเสียง คุณอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมายอมรับเองว่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้นประชาธิปัตย์ใช้เงิน มากกว่าเพื่อไทยเสียอีก ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ซื่อสัตย์กับตัวเองจริง ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาที่แพ้ไม่ได้แพ้เพราะเรื่องซื้อเสียง ไม่ได้แพ้เพราะตัวเองมีเงินน้อยกว่า ต้องเริ่มจากความจริงข้อนี้
ถาม: อะไรทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนและแนวทางเคลื่อนไหวไปในทางเล่นการเมือง นอกระบบมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจารย์คิดว่า ส.ส.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตัดสินใจคว่ำบาตรครั้ง นี้หรือไม่
ผมเชื่อว่าไม่ใช่สมาชิกพรรคทุกคน ส.ส. ทุกคนของพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง กับการเดิมพันครั้งนี้ แต่อาจจะไม่สามารฝืนมติพรรคได้ แล้วก็ต้องรอดูต่อไปว่า จะมีคนย้ายพรรคไหม จะมีคนแบ่งกลุ่มออกมาไหม เช่น กลุ่มของคุณอลงกรณ์ ที่ผลักดันเรื่องการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์นั้นจะแยกตัวออกมาไหม หรือมีบางกลุ่มแยกตัวออกมาร่วมปฏิรูปกับรัฐบาลไหม คนที่รู้สึกว่าการเดิมพันครั้งนี้มันสูงเกินไปสำหรับเขา และเป็นการตัดอนาคตทางเมืองของเขา เราต้องเข้าใจว่า ถึงที่สุดแล้ว ส.ส. ทุกคนอยากเลือกตั้ง ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่เช่นนั้นแล้วจะลงมาเล่นการเมืองทำไม แล้วไม่ใช่ว่า ส.ส. ประชาธิปัตย์ทุกคนจะฮาร์ดคอร์เหมือนกับคุณสุเทพ คุณสุเทพแกเดิมพันส่วนตัวของแกได้  แต่ ส.ส. จำนวนหนึ่งถ้าเขาไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้เป็นผู้แทนแล้วเขาก็จะลำบาก ฉะนั้นการคว่ำบาตรไม่น่าเป็นความต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าตอนนี้ปัญหาคือในบรรดาส.ส. ประชาธิปัตย์ที่ไม่เห็นด้วย เขาจะทำอย่างไรต่อ ถ้ามีการแตกแยกของพรรคประชาธิปัตย์โผล่ออกมาให้สาธารณะเห็น การคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะยิ่งมีความชอบธรรมน้อยลง เพราะจะชี้ให้เห็นว่า คุณกำลังใช้อำนาจเผด็จการหรือเปล่า ไปบังคับฝืนใจ ส.ส. ของคุณเองหรือเปล่า จึงต้องถามว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้ใครได้ประโยชน์กันแน่ อาจเป็นแค่กลุ่มของคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพเท่านั้น ที่ครอบงำพรรคอยู่
ปัญหาตอนนี้คือ พรรคถูกครอบงำโดย คุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งมีคดีติดตัวเยอะมก อาจต้องติดคุก และอนาคตการเมืองในระบบเหลือน้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเขามีเหตุจูงใจที่จะไม่เล่นการเมืองในระบบ เขามีแรงจูงใจที่จะเล่นการเมืองแบบสุดโต่ง เพราะไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้แล้ว อันนี้เป็นปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะองค์กรว่า จะปล่อยให้ตัวเองถูกครอบงำโดยกลุ่มที่สุดโต่งแบบนี้หรือไม่ ถ้าอยากเห็นประชาธิปัตย์ดำรงอยู่ต่อไปในฐานะพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด อันนี้เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ คุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์กำลังพาพรรคทั้งพรรค องค์กรทั้งองค์กร ลงเหวไปกับตัวเองด้วย ทำพรรคล้ม เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเอง
ถาม: ในการคว่ำบาตรการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ในปี 2500 และ 2549 ก็มีส่วนในการปูทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง ในการคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การเข้ามาของอำนาจนอกระบบอีก หรือไม่
คงตอบไม่ได้ว่า จะเกิดหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่มีตัวแปรซับซ้อน แต่วิเคราะห์ได้ว่า การคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นจิ๊กซอว์อันหนึ่งที่จะนำไปสู่การปูทางของการเข้ามาของอำนาจนอกระบบ พูดง่ายๆ ว่า คว่ำบาตรการเลือกตั้งเพื่อทำให้การเมืองในระบบเกิดทางตัน เพราะการเลือกตั้งเป็นการแก้ปัญหาในระบบประชาธิปไตยทั่วไปที่ทั่วโลกใช้ ถ้าเลือกตั้งผ่านไปได้ก็ไม่ตัน แต่ถ้าฝ่ายชนชั้นนำที่สนับสนุนประชาธิปัตย์อยากให้เกิดทางตัน เขาก็ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เกิดขึ้น ซึ่งการคว่ำบาตรครั้งนี้ก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง เพื่อให้เกิดทางตัน เกิดสุญญากาศทางอำนาจ เพื่อจะปูทางสู่การแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบในที่สุด เพียงแต่ว่าในครั้งนี้ พรรคการเมืองอื่นไม่เอาด้วย ก็เลยต้องมาดูว่า การคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น