แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กรณีสังฆราชสิ้นพระชนม์ และรัฐศาสนาอำพราง?

ที่มา ประชาไท

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
พุทธศาสน์ของราษฎร



ปี 2556 เป็นปีครบรอบ 100 ปีชาตกาล ของสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกที่กลายเป็นวาระแห่งชาติ ดังที่เราจะเห็นการขึ้นตราสัญลักษณ์ขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์ ตามหน่วยงานต่างๆ มีป้ายประชาสัมพันธ์แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของแคมเปญนี้ บางแห่งถึงกับเขียนว่า “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” ในแบบเดียวที่ใช้กับวันเฉลิมพระชนมพรรษา แต่อย่างไรก็ตามการเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวก็ไม่ถึงกับเป็นกระแสของสังคม เท่าใดนัก แต่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาด้วย 2 ประเด็น นั่นคือ กรณีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และกรณีการประกาศไว้ทุกข์โดยรัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการเมืองของสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อรัฐและระบอบ ประชาธิปไตยอย่างแยกกันไม่ได้ ทั้งปรากฏการณ์นี้ยังบอกใบ้เป็นนัยถึงสิ่งที่เรียกว่า “รัฐศาสนาอำพราง” ในสังคมไทย
กรณีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และความขัดแย้งกับพระป่าสายหลวงตาบัว ก่อนรัฐประหาร 2549
การจากไปของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 10 สิงหาคม 2556 นั่นได้ทำให้ “สมเด็จเกี่ยว” ที่เคยเป็นแคนดิเดทสำคัญของฝ่ายมหานิกายที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระ สังฆราชได้ปิดโอกาสลงไป หลังจากนั้นราว 2 เดือนสมเด็จพระสังฆราชถึงจะสิ้นพระชนม์ งานศพที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติของพระอาวุโสแสดงให้เห็นภาพร่างของเครือข่าย อำนาจสงฆ์ของฝ่ายมหานิกาย ทำให้พระสมณศักดิ์อาวุโสรองลงมาอย่าง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งนั่นหมายถึง แคนดิเดทสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปที่โดดเด่นที่สุด
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมาถึงวันนี้ กล่าวได้ว่า มีความขัดแย้งทางการเมืองของสงฆ์ที่เกี่ยวกับอำนาจและการเสนอนโยบายโดยรัฐ อย่างสำคัญ อาจกล่าวได้ว่า ความตึงเครียดเขม็งเกลียวระหว่างสมเด็จเกี่ยว กับ อีกกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มวัดป่าสายหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2548 เป็นอย่างช้า การอาพาธ (ป่วย) ครั้งสำคัญของสมเด็จพระสังฆราชในปี 2547 จนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ ในสมัยนั้นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรได้มีการเสนอแต่งตั้งให้สมเด็จเกี่ยวดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทน สมเด็จพระสังฆราช และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ความขัดแย้งปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมคือ กรณีที่หลวงตามหาบัว “เป่านกหวีด” เรียกพระสงฆ์เข้าประชุม ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง อุดรธานีวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2548 เวลา 14.00 น. ด้วยข้ออ้างเรื่องการเสียประโยชน์ของสงฆ์กรณีที่รัฐบาลร่างพระราชบัญญัติเขต เศรษฐกิจพิเศษที่เข้าใจว่าจะส่งผลประทบต่อธรณีสงฆ์และพระสงฆ์ที่อยู่ในเขต ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นแหล่ง “เดินป่า” ของเหล่าพระป่าทั้งหลาย อันเป็นสายตรงที่มีคอนเนคชั่นกับหลวงตามหาบัวนั่นเอง ด้านหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างสายวัดป่ากับรัฐ ข้ออ้างที่นัดระดมพลครั้งนั้นคือ
สืบเนื่องจากการกระทำของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และนายวิษณุ เครืองาม ยังไม่มีข้อยุติ และมีทีท่าจะสืบเนื่องต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดจนถึงร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ อันจะเป็นผลให้ที่ธรณีสงฆ์ ตลอดถึงพระสงฆ์ที่อยู่ในป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก จนอาจจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชาติไทย พระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัยอาจถึงกาลวิบัติได้
            พระสุดใจ ทนฺตมโนได้เป็นผู้ลงนามเชิญโดยอ้างคำปรารภของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันนิมนต์ “ครูบาอาจารย์ สหธรรมิก คณะสงฆ์ไทย ทุกรูป” ตามข่าวได้บอกว่า ประเมินว่าจะมีพระมาร่วมกว่า 10,000 รูป[1] อย่างไรก็ตามความตื่นตัวของวัดป่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 มาแล้ว นั่นคือ การที่นักข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ได้ ถามหลวงตามหาบัวเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงกรณีร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษอันเป็นคำถามที่ชี้ประเด็นว่าร่าง พ.ร.บ.นี้จะเอา “ธรณีสงฆ์” ไปจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย (ซึ่งน่าจะคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงที่คำนูณ สิทธิสมานเองก็กล่าวไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เปลี่ยนการให้อำนาจจากเดิมที่ออกเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาเป็นการเห็นชอบโดยฝ่ายบริหารเลยไม่ต้องผ่านสภา[2]) หลวงตามหาบัวได้ตอบคำถามที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจว่าการครอบครองที่ของพระนั้นฆราวาสไม่ควรยุ่งเกี่ยว[3]
“ไม่สมควร ที่ธรณีสงฆ์เป็นสมบัติของพระสงฆ์ทั่วประเทศไทย แล้วเฉลี่ยผลประโยชน์ของธรณีของสงฆ์นี้ออกทั่วประเทศไทยเหมือนกัน ทางบ้านเมืองที่จะมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ธรณีสงฆ์จึงไม่สมควร สงฆ์เป็นสงฆ์ พระเป็นพระ ศาสนาเป็นศาสนา ไม่สมควรที่จะมาแบ่งมาแยกออกไป ถ้าแบ่งแยกออกไปแล้วศาสนาก็กลายเป็นโลกไปหมด โลกเอาไปถลุงกันหมด ไม่มีความหมาย ว่าอย่างนั้นเลย จึงไม่สมควรที่จะเอาเรื่องที่ธรณีสงฆ์ไปเกี่ยวกับเรื่องชาติเรื่องบ้านเมือง เราเห็นอย่างนั้น”    
   แต่ความเห็นที่โจมตีสมเด็จเกี่ยวอย่างเด่นชัดก็คือ การชี้ว่าสมเด็จเกี่ยวเป็นมหาโจรที่ยิ่งใช้กรอบการตัดสินคนแบบขาว-ดำ คนดี-โจร เข้าไปอีก “มหาเถรสมาคมมีความหมายอะไรทุกวันนี้น่ะ มหาเถรสมาคมก็สมเด็จเกี่ยวเป็นหัวหน้าอยู่นั้น เป็นมหาโจร เอาคนผิดเข้ามาใส่มหาเถรสมาคม” กระนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า ในบริบทดังกล่าวหลวงตามหาบัวยัง “เอ็นดู” ทักษิณอยู่ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ ดังนั้นสัญญาณนี้จึงส่งไปยังรัฐบาลและมหาเถรสมาคม คนที่รับผลอย่างเต็มที่ก็คือ สมเด็จเกี่ยวนั่นเอง โดยเฉพาะคำกระทบกระเทียบเกี่ยวกับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่ว่า

“เรื่องพระราชอำนาจที่พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงสถาปนา หรือตั้งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นมาเป็นลำดับลำดา แล้วประชาชนตลอดพระเจ้าพระสงฆ์ทั่วประเทศไทยอนุโมทนาสาธุการ น้อมรับเป็นสิริมงคลอันยิ่งใหญ่มาโดยลำดับลำดา แล้วมันเอาความรู้หมาขี้เรื้อนมาจากไหน มาลากเอาอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปครอง หมาขี้เรื้อนครองทองคำได้ไหม พิจารณาซิ นี้ละแบบพวกแย่งชิงเอาไป
เราไม่เห็นด้วยเราก็บอกไม่เห็นด้วย ถึงจะเอาไปไหนก็ตาม ธรรมความจริงไม่เห็นด้วยอยู่ตลอด มันเอาไปก็เป็นแบบโจรแบบมาร เจ้าของสมบัติคือพวกเรารักษาความดีงามไว้ นี่เรารักษาอยู่ อำนาจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร คนไทยทั้งชาติ พระเจ้าพระสงฆ์ทั่วประเทศไทยน้อมรับหมด พระองค์ทรงสถาปนาหรือตั้งสมเด็จพระสังฆราชเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น หน้าที่การงานอะไรที่เกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช ก็เป็นหน้าที่การงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพินิจพิจารณา หรือแต่งตั้งใครมาจัดทำก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องตาลีตาลานเข้ามา ปีนเกลียวเข้ามาอยากเป็นสมเด็จพระสังฆราชหลายๆ องค์ เป็นทีละสิบองค์ยี่สิบองค์ไปอย่างนั้น เข้าใจแล้วเหรอ
นี่มันทะลึ่ง มันดื้อด้านเข้าใจไหม สังฆราชดื้อด้านถ้าเป็นสังฆราชขึ้นมา ไม่มีใครกราบ หมาก็ไม่กราบสังฆราชแบบนี้ กราบสังฆราชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเท่านั้น กราบทั่วประเทศไทยอันนี้ ที่มาตั้งแบบนี้ไม่มีใครกราบนอกจากหมาขี้เรื้อน เรายังไม่ได้ถามไอ้ปุ๊กกี้เรา มึงจะกราบไหมสมเด็จสังฆราชแบบนี้ น่ากลัวมันจะไล่กัดเอาจะว่าไง”
 
                อาจกล่าวได้ว่า นักข่าวพยายามยืมปากของหลวงตามหาบัวด่าทักษิณ แต่กลายเป็นว่าจำเลยที่เกิดขึ้นคือ สมเด็จเกี่ยวไปเสีย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2548 หลวงตามหาบัวถึงกับ “หลั่งน้ำตา” สลดสังเวชต่อร่างพ.ร.บ.ธรณีสงฆ์ด้วยความเข้าใจว่า กฎหมายที่จะทำการไล่พระสงฆ์ออกจากป่า แล้วเอาที่วัดไปทำมาหากิน[4]


หลวงตามหาบัวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมเด็จพระสังฆราชฯ

ชุมนุมพระ-คนนับหมื่น
            การเมืองมวลชนของพระป่าแสดงให้เห็นพลังเชิงประจักษ์ด้วยการตบเท้า ผลัดจีวรพร้อมๆกับฆราวาสแสดงพลังมวลชนกว่าหมื่น ในวันที่ 4 มีนาคม 2548[5] หลวงตามหาบัวเทศน์ใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1.การพยายามลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทนสังฆราช โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ผิดพระราชประเพณี ที่จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะแต่งตั้งได้
2.กรณีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ซึ่งหลวงตามหาบัว กล่าวว่าบทบาทที่ผ่านมาทำอะไรไม่ดีไว้หลายอย่าง ทำให้พระสงฆ์แตกแยก และระบุว่าเป็นมหาโจรด้วย
3.การถอดถอนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากแต่งตั้งสมเด็จพุฒาจารย์ มาทำหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช
การชุมนุมดังกล่าวนำไปสู่การถวายฎีกาในหลวงวันที่ 7 มีนาคม 2548 เพื่อถอดถอนสมณศักดิ์สมเด็จเกี่ยวจากตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะที่ขัดพระธรรมวินัย นำโดยทองก้อน วงศ์สมุทร ที่สำนักงานราชเลขาธิการ ขณะเดียวกันกลุ่มที่อ้างว่าเป็นสภาพุทธบริษัทแห่งประเทศไทย ก็ออกแถลงการณ์โจมตีว่าการถวายฎีกาของหลวงตามหาบัวและนายทองก้อนถือว่าเป็น การก้าวล่วงพระราชอำนาจ และเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาทที่พระสงฆ์ไทยไม่เคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน โดยพาดพิงไปยังโครงการผ้าป่าช่วยชาติ และชี้ว่าพยายามผลักดันเงินทุนข้ามชาติต่างศาสนาเข้ามาเพื่อหวังทำลายพุทธ ศาสนา ทั้งยังโจมตีหลวงตามหาบัว ว่าต้องการให้ตนเป็นใหญ่ในคณะสงฆ์[6] แต่อีกหนึ่งปีต่อมา ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ความสัมพันธ์ระหว่างหลวงตามหาบัวกับทองก้อนก็ถึงคราวแตกหัก เมื่อฝ่ายแรกอัปเปหิฝ่ายหลังออกจากวัด และห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใด ๆ ของวัดป่าบ้านตาดอีกต่อไป เนื่องจากประพฤติไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการบริหารสถานีวิทยุเสียงธรรมชุมชน[7]  ปัญหาภายในดังกล่าวจึงทำให้กระแสต่อต้านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ถูกพักยกไว้
จึงเห็นได้ว่า ภาพของแคนดิเดทสังฆราชถูกทำให้มีมลทินมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2548 โดยพระป่าสายหลวงตามหาบัว การดิสเครดิตในฐานะมหาโจรก็ดี หรือการชิ่งไปยังความเลวร้ายของรัฐบาลทักษิณอันจะต่อเนื่องไปถึงการรัฐ ประหาร 2549[8]

รัฐประหาร 2549 กับความพยายามตัดโอกาสแคนดิเดทสังฆราช
รัฐประหารสร้างสภาวะที่เอื้อให้กับการตัดโอกาสทางการเมืองของเครือข่าย พันธมิตรของทักษิณอย่างช่วยไม่ได้ เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่มากก็คือ กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 30 คนอันเป็นตัวแทนเผด็จการที่ทำหน้าที่เหมือนกับ สส.ในสมัยประชาธิปไตยได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสำคัญ ก็คือ เปลี่ยนกติกาเลือกสมเด็จพระสังฆราชใหม่ ที่เดิมให้ผู้ที่ขึ้นต่อจากสมเด็จพระสังฆราชคนเก่า คือ คนที่สมณศักดิ์สูงที่สุด ซึ่งในตอนนั้นคือ สมเด็จเกี่ยว แต่ในฉบับใหม่นี้ให้เปลี่ยนเป็น คนที่มีพรรษาสูงที่สุด ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนแคนดิเดทกลายเป็น “พระนิกายธรรมยุติ” แทน[9]  เรื่องนี้นับเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 คณะสงฆ์ราว 50 รูป และสาวก ราว 20 คน นำโดย ดร.พระมหาโชว์ ทสสนีโย ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รวมตัวกันประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล และเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ยับยั้งการนำร่างแก้ไขพ.ร.บ. คณะสงฆ์ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ
ก่อนหน้านั้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 มีการโหมกระพือข่าวโจมตีว่า รัฐบาลทักษิณได้ทำผิดกระบวนการในการตั้งตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จ พระสังฆราชในช่วงปี 2547 ยิ่งสร้างเงื่อนไขและช่องทางไปสู่การปลดสมเด็จเกี่ยวมากยิ่งขึ้น[10]  ในเวลาใกล้เคียงกัน มีการปลอมหนังสือสมเด็จพระสังฆราชที่ยกเลิกมติที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20/2547 มติที่ 332/2547 เรื่อง เลือกคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 โดยมีสาระคือ การโยกให้สมเด็จเกี่ยวไปเป็นที่ปรึกษา คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช แล้วให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงครามซึ่งตรวจสอบแล้วว่าไม่ใช่ฉบับจริง สรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ออกมาปฏิเสธการปลดสมเด็จเกี่ยวใน วันที่ 7 พฤศจิกายน[11] ขณะที่พระเทพปริยัติวิมล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ผูกกับวัดบวรนิเวศและพระ นิกายธรรมยุตินั้น ได้ออกมาแถลงว่า พระบัญชาปลอมไม่ได้มาจากฝ่ายตนและทำการแจ้งความเอาผิดไว้ด้วย ที่นอกจากนั้นก็คือ อ้างว่ามีโทรศัพท์มาขู่วางระเบิดที่กุฏิหลังหนึ่ง ณ คณะเหลืองรังสี ในวัดบวรนิเวศนั่นเอง[12]
สิ่งเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับการบ่อนเซาะอำนาจของสมเด็จเกี่ยวก่อนรัฐ ประหารทั้งสิ้น บทบาทของสมเด็จพระสังฆราชเองหลังจาก 2547 เป็นต้นมาจึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่ายเป็น อย่างน้อย และได้มีความสัมพันธ์อยู่กับนโยบายของรัฐ ดังเช่นกรณีร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ปะทะกับ พื้นที่คลุมเครืออย่างพื้นที่สงฆ์ทั้งในระบบ และนอกระบบอย่างพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตามสมเด็จเกี่ยวก็อยู่ในตำแหน่งมาได้เพียง 9 ปี ในที่สุดก็มรณภาพ ขณะที่หัวขบวนพระฝ่ายวัดป่าอย่างหลวงตามหาบัวมรณภาพไปก่อนในวันที่ 30 มกราคม 2554


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) แห่งวัดสระเกศฯ หรือสมเด็จเกี่ยวฯ
กรณีไว้ทุกข์สังฆราช 2556
การประกาศไว้ทุกข์โดยรัฐบาลต่อการสิ้นพระชนม์ 15 วัน และขยายต่อเป็น 30 วันจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556[13]   โดยขอความร่วมมือข้าราชการ และทุกภาคส่วน ในการถวายการไว้อาลัยแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยให้แต่งชุดดำไว้ทุกข์ 30 วัน
ประกอบกับข่าวการขอความร่วมมือจากตำรวจไปยังสถานบันเทิงต่างๆ เพื่องดการแสดงและความรื่นเริง[14] เป็นเวลา 15 วัน ตราบจนวันนี้แม้รัฐจะประกาศไว้ทุกข์เป็น 30 วัน แต่ไม่แน่ใจนักว่าจะให้ตำรวจขอขยายความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมด้วยหรือ ไม่ เพราะเทศกาลสำคัญก็คือ งานลอยกระทง อันเป็นงานเฉลิมฉลองและท่องเที่ยวในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน การแสดงออกถึงภาวะโศกเศร้าเสียใจทั้งหลายที่ออกมาทางสื่อต่างๆ มีลักษณะคล้ายกับคราวที่สมเด็จพระพี่นางสิ้นพระชนม์ เมื่อต้นปี มกราคม 2551
บางคนอาจเถียงได้ว่า เมื่อวันสองวันที่ผ่านมาการขอความร่วมมือดังกล่าว ไม่ได้ก่อกวนการกินเหล้าเข้าผับหรือแสวงหาบันเทิงแต่อย่างใด แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันแล้วในการเข้ามาสร้างภาพ ลักษณ์ให้คนโศกเศร้าอาลัยกับ “บุคคลเชิงศาสนา”
สังฆราชประมุขของสงฆ์ในราชอาณาจักร?

                ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แม้ว่าจะมี หมวด 1 สมเด็จพระสังฆราช มาตรา 8 ระบุว่า
“สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหา สังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้กับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม”

ที่น่าสนใจก็คือ การนิยามคำว่า “คณะสงฆ์” ในมาตรา 5 ทวิ ที่ระบุว่า
คณะสงฆ์ หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร
คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกายหรืออนัมนิกาย
ดังนั้น ในการปกครองของสมเด็จพระสังฆราชจึงอยู่ในเฉพาะ “คณะสงฆ์” ที่ถือว่าได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่นับว่าเกี่ยวข้องกับ นักบวชจีนนิกาย (พระมหายานจีน) หรืออนัมนิกาย (พระมหายานเวียดนาม) ในด้านหนึ่งคือว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่นับ นักบวชพุทธศาสนานิกายอื่นๆ ที่ในโลกปัจจุบันมีมากขึ้นอยู่แล้ว เช่น ตันตระนิกาย พระมหานิกายเกาหลี พระมหานิกายญี่ปุ่น หรือแบ่งแยกย่อยเป็นนิกายต่างๆ ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว การมีกฎหมายแบบนี้ยิ่งทำให้ศาสนาแข็งตัวอยู่ในกรอบ อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุขของคณะสงฆ์ ที่เป็นความหมายแคบๆเพียงเท่านั้น
ความเศร้าโศกของชาติกับศาสนาของชาติ?
                การจากไปของบุคคลต่างๆนั้น อาจนำพาซึ่งความโศกเศร้ามายังผู้เกี่ยวข้องและเคยสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทาง หนึ่ง อย่างไรก็ตามการไว้อาลัยของบุคคลสำคัญระดับประเทศในฐานะต่างๆ ก็มีข้อน่าสังเกต กรณีประมุขของประเทศนั้น แม้จะมีประเด็นที่จะต้องถกเถียง แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักในบทความนี้  ในกรณีมรณกรรมของบุคคลสำคัญทางศาสนานั้นผู้เขียนมีความกังขาว่า การที่ทั้งรัฐใช้อำนาจประกาศไว้อาลัยคนสำคัญทางศาสนาว่า มันชอบอยู่หรือไม่ ในสังคมที่คนนับถือพุทธศาสนาน้อยลงทุกที แต่กลายเป็นว่าพุทธศาสนาเข้ามาแฝงอยู่ในปฏิบัติการและนโยบายของรัฐ ดังที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นแล้วผ่านตัวอย่างความขัดแย้งอย่างหนึ่ง อย่างน้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านอันนำไปสู่รัฐประหาร 2549 และยังสุมขอนมาถึงทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึก และเกิดข้อสังเกตว่า รัฐไทยที่ฝ่ายสนับสนุนพุทธศาสนาแบบเถรวาทมักอ้างว่า ไทยไม่ใช่รัฐพุทธศาสนานั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐไทยอาจเป็นรัฐศาสนาอำพรางที่แฝงตัวอยู่ และพร้อมออกมาปฏิบัติการในโอกาสที่พอเหมาะพอควร โดยไม่ทำให้ตัวเองเสียความชอบธรรมทางการเมืองที่มีอยู่



[1] ผู้จัดการASTV. “‘หลวงตาบัว’ เตรียมถวายฎีกาในหลวง ถอด ‘สมเด็จเกี่ยว’ – ไม่แต่งตั้ง ‘วิษณุ’” http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000030888  (3 มีนาคม 2548) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[2] ผู้จัดการASTV. “ที่วัด – ที่ธรณีสงฆ์” . http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000026012 (21 กุมภาพันธ์ 2548) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[3] หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, ถอดเทปการเทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548. "ลงเข้ามาทำลายศาสนาแล้วเป็นไม่ถอย". http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3261&CatID=2  เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[4] หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, ถอดเทปการเทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2548. "สลดสังเวชความเลวร้ายของมนุษย์ทุกวันนี้". เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3261&CatID=2 เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[5] ผู้จัดการASTV. "คนนับหมื่นชุมนุมใหญ่ ต้านสมเด็จเกี่ยว-วิษณุ" . http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000031832 (5 มีนาคม 2548) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[6] ผู้จัดการASTV. "“ทองก้อน” ฝ่าม็อบต้าน ถวายฎีกาในหลวง ".http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000032706 (7 มีนาคม 2548) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[7] "หลวงตาบัวอัปเปหิลูกศิษย์คนดังออกจากวัด" ใน  คม ชัด ลึก วัน (11 สิงหาคม 2549) อ้างถึงใน http://news.sanook.com/social/social_12779.php เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[8] ASTVผู้จัดการรายวัน. "“สุรยุทธ์”ยันยังไม่ปลด“สมเด็จเกี่ยว”" . http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000137910 (7 พฤศจิกายน 2549) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[9] ASTVผู้จัดการรายวัน. "“สุรยุทธ์”ยันยังไม่ปลด“สมเด็จเกี่ยว”" . http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000137910 (7 พฤศจิกายน 2549) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[10] ASTVผู้จัดการออนไลน์. "เปิดหลักฐานจับโกหก แถลงการณ์สำนักนายกฯ แอบอ้างสมเด็จพระสังฆราช" http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000152568 (4 พฤศจิกายน 2548) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[11] ""สังฆราช" มีบัญชา เปลี่ยนปธ. คณะผู้ปฏิบัติฯแทน" ใน ไทยรัฐ (7 พฤศจิกายน 2549) อ้างอิงใน http://news.sanook.com/palace/palace_46528.php
[12] ASTVผู้จัดการออนไลน์. "ขู่วางระเบิด! คณะเหลืองรังษี วัดบวรฯ ใกล้ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช". http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000138837 (9 พฤศจิกายน 2549) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[13] ข่าวสดออนไลน์. "นายกฯลงนามขยายเวลา ขรก.ไว้ทุกข์แด่สมเด็จพระสังฆราช 30 วัน" http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1qWTRPRE16T0E9...  (25 ตุลาคม 2556) เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)
[14] VoiceTV. "ผบ.ตร.วอนสถานบันเทิงไว้อาลัย งดบริการ 15 วัน" http://news.voicetv.co.th/thailand/86139.html (25 ตุลาคม 2556)เข้าถึงเมื่อ (27 ตุลาคม 2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น