แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

เขื่อนกับ “พระราชอำนาจ”

ที่มา ประชาไท


<--break->
เสียดายกรณีค้านเขื่อนแม่วงก์ทำท่าจะจบลงง่ายดายไปหน่อย แต่ที่ยังคาใจผมอยู่เช่นเดิมคือ ทำไมค้านแค่บางเขื่อน? ทำไมเขื่อนบางเขื่อนมีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมน้อยกว่าปรกติ? เป็นเรื่อง “บังเอิญ” หรือที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา บรรดาเขื่อนที่มีสร้อยต่อท้ายชื่อว่า “โครงการตามพระราชดำริ” เท่านั้นสามารถก่อสร้างได้ แต่โครงการอื่นที่คล้ายคลึงกันกลับถูกต่อต้าน?  
ผมไม่ได้ท้าทายต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวในการริเริ่มโครงการ เหล่านี้ แต่บางคนเข้ามาเถียงว่าการมีพระราชดำรัสไม่ได้มีผลอะไรต่อโอกาสที่จะสร้าง เขื่อนได้ ก็ต้องเถียงว่าไม่จริง ซึ่งผมได้ยกตัวอย่างสามเขื่อนเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองท่าด่าน และเขื่อนห้วยโสมง ซึ่งล้วนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ส่งผลกระทบตั้งแต่การโยกย้ายประชาชนหลายหมื่นคน ไปจนถึงผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าป่าที่อุทยาน แห่งชาติแม่วงก์ แต่สามารถก่อสร้างได้
ถามว่าพระราชดำรัสได้ถูกเปลี่ยนเป็นผลในเชิงปฏิบัติหรือไม่? มีแน่นอน นอกจากสร้อยต่อท้ายโครงการแล้ว ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับและปฏิบัติให้พระราชดำรัสดังกล่าวเป็นผล อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) เป็นต้น
ถามว่าการตั้งหน่วยราชการขึ้นมาโดยอ้างพระราชดำรัสก็ดี พระราชดำริก็ดี การใช้พระราชทินนาม หรือนามพระราชทานเป็นชื่อโครงการเขื่อน สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักการ Constitutional Monarchy หรือไม่ ? สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” หรือที่เรียกว่าหลักการละเมิดมิได้ (Inviolability) หรือไม่ กรณีที่โครงการเหล่านี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือเกิดการปฏิบัติมิชอบขึ้นมา หรือมีเรื่องอื้อฉาวขึ้นมา?  
ที่สำคัญกว่านั้นคือ การอ้างพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนั้นจะกระทบ ต่อหลักธรรมภิบาลของหน่วยงานพัฒนาโครงการ กำกับดูแล อนุมัติ และปฏิบัติตามโครงการหรือไม่ จะกระทบต่อหลักการตรวจสอบได้ (accountability) ความโปร่งใส (transparency) และความไม่ลำเอียง (impartiality) ในขั้นตอนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อ “คุณภาพ” ของการสำรวจผลกระทบด้านต่าง ๆ ก่อนการอนุมัติโครงการ รวมทั้งการสำรวจผลกระทบเพิ่มเติมภายหลังการดำเนินโครงการแล้วหรือไม่
ผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่อยากเสนอว่าว่าเป็นประเด็นที่สังคมควรถกเถียงกัน
ส่วนกรณี “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนและโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในไทยและใน ภูมิภาค เป็นไปตามหลักฐานที่ผมแสดง อย่าง "โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้า พระยา" ("โครงการ ธ ประสงค์ใด") ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้จัดทำ และเป็นที่มาของโครงการเขื่อนใหญ่อย่างแม่วงก์ โครงการผันน้ำ (เขื่อนแก่งเสือเต้น) ฯลฯ และทำไมครม.ต้องอนุมัติเมื่อ 30 ตุลาคม 2544 ให้สำนักงานทรัพย์สินฯ? เป็นผู้จัดทำโครงการนี้ หน่วยงานนี้เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร?
และผมบอกว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ได้สนับสนุนการสร้างเขื่อนเฉพาะเมืองไทย แต่เคยมีหุ้นถึง 10% อยู่ในบริษัท MDX มีคนแย้งว่า “แค่ถือหุ้นไม่ได้หมายถึงว่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัท” อันนั้นผมเข้าใจ แต่ข้อความที่ว่า “บริษัท จี เอ็ม เอส เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อตั้งบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ ลาว จำกัด ขึ้นในปี 2537 โดยร่วมทุนกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อลงทุนพัฒนาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าเอกชนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว (ลาว)” มาจากรายงานประจำปีของบริษัท MDX เอง
MDX มีส่วนในการพัฒนาและก่อสร้างโครงการเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในลาว อย่างโครงการเทิน-หินบูน (210 เมกะวัตต์) โครงการน้ำงึม 3 (400 เมกะวัตต์) และในจีน อย่างโครงการจินหง (3,000 เมกะวัตต์) รวมทั้ง MDX ยังเกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนในไทยหลายโครงการ (ดูรายงานที่อ้างแล้ว หน้า 7-10)
ส่วนรายงานข่าวต่างประเทศก็ระบุเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ทั้งในรูปการถือหุ้นในบริษัทที่สร้างเขื่อนและหุ้นในธนาคารที่ปล่อยกู้ให้ โครงการเขื่อน (คงไม่ต้องพูดถึงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทขายปูนด้วยกระมัง)
การที่หน่วยงานใหญ่ อย่างสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการตรวจสอบจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานเอกชนใด ๆ และยังมีส่วนยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ (การใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงาน ทรัพย์สินฯ และการใช้ประโยชน์จากรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ “ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ”) เข้ามาพัวพันกับการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผล กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมมากเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ควรตรวจสอบหรือไม่?  
การที่หน่วยงานใหญ่ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการ สร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นภาคการธนาคาร ปูนซีเมนต์ ประกันภัย และอื่น ๆ ทำหน้าที่เสนอและกำหนดนโยบายในกิจการที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุน อย่างเช่น การสร้างเขื่อนและโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ จะถือว่าเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (Conflict of Interest) หรือไม่?
ผมย้ำว่าไม่มีคำตอบสำเร็จรูปในเรื่องนี้ แต่อยากถามว่าเป็นสิ่งที่สังคมควรถกเถียงหรือไม่ และถ้าจะมีการถกเถียงก็ควรทำอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาจริงหรือไม่?

อ้างอิง

*รายงานประจำปี 2549 บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หน้า 7

โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลพบุรี
โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครนายก
โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี
เปิดเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ วางแผน3ระยะ สั้น-กลาง-ยาว แก้ปัญหาน้ำ
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479

มาตรา 4 ตรี   "คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้ จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน”

มาตรา 6 “...รายได้ซึ่งได้หักรายจ่ายตามความในวรรคก่อนแล้ว จะจำหน่ายใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ”
กรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใน MDX สร้างเขื่อนเทินหุนบุนในลาว
กรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใน MDX เพื่อสร้างเขื่อนในกัมพูชา


หมายเหตุ: ภาพจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น