แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ว.วชิรเมธี กับข้อเสนอ “องค์กรเซ็นเซอร์คำเทศนา”

ที่มา ประชาไท


 “ ข้อเสนอให้มีองค์กรเซ็นเซอร์คำเทศนาของพระ ว.วชิรเมธี
จึงเป็นข้อเสนอเชิงอำนาจที่เป็นการลดทอนความหลากหลาย
ของการตีความพุทธศาสนาให้สนองตอบต่อความหลากหลาย
ของทุกข์ในชีวิตปัจเจกและทุกข์ทางสังคม “
 
คำให้สัมภาษณ์นิตยสาร Way (ฉบับสิงหาคม 2556) ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง เมื่อท่านเสนอให้
 
“ปฏิรูปการเผยแผ่พุทธศาสนาในเมืองไทย ใครก็ตามที่จะเทศน์จะสอน อย่างน้อยก็ควรมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งรับประกันคุณภาพคำเทศน์คำสอน เวลาเราเข้าไปในร้านอาหารต่างๆเขายังมี อย.รับประกันเลย เขาคุ้มครองผู้บริโภคใช่ไหม เราชาวพุทธก็ควรจะมีการคุ้มครองพุทธบริษัทญาติโยมผู้เป็นผู้บริโภคพุทธธรรม คำสอน ทุกวันนี้เราไม่มีระบบคุ้มครองผู้บริโภคทางจิตวิญญาณ..."
 
เมื่อพิจารณาจากที่ท่านให้เหตุผลต่อมาว่า
 
“...เราจึงมีพระที่ผลิตคำเทศน์คำสอนที่สวนทางกับพระ พุทธเจ้าเกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย เป็นคำสอนที่ปลอมปนเข้ามาในพระพุทธศาสนา เราเลอะเทอะเปรอะเปื้อนขนาดนี้แต่ไม่มีใครสำเหนียก อาตมาถึงบอกว่ากรณีที่เป็นข่าวอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ การเผยแผ่พระธรรมที่ไม่ตรงตามพระพุทธเจ้าต่างหากที่น่ากลัวที่สุด เพราะนั่นคือการทำลายพระพุทธศาสนาหยั่งลึกถึงรากแก้ว”
 
จากเหคุผลนี้จะเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวก็คือข้อเสนอให้มี “องค์กรเซ็นเซอร์คำเทศนา” นั่นเอง ผมคิดว่าข้อเสนอนี้สะท้อนอะไรหลายๆอย่าง
 
ที่ว่ากันว่าพระทุกวันนี้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่อง แต่พระ ว.วชิรเมธีเป็นพระทันสมัย สื่อสารกับคนรุ่นใหม่รู้เรื่องจนเป็นพระเซเลบของคนชั้นกลางนั้น เอาเข้าจริงแล้วหากตัดลีลา สำนวนโวหาร การเอาคำพูดของผู้รู้อื่นๆ มาตัดต่อประดิษฐ์ใหม่ หรือทักษะการเล่นกับกระแสได้เก่งแล้ว น่าคิดว่าอะไรคือ “เนื้อหา” ความคิดของพระ ว.วชิรเมธีที่เข้ากันได้กับคุณค่าสมัยใหม่ หรือสนับสนุนความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค มีเสรีภาพที่จะเลือกการกระทำหรือวิถีชีวิตด้วยการใช้เหตุผลหรือวิจารณญาณของ ตนเอง
 
คุณค่าสมัยใหม่วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในทางศีลธรรม” แน่นอนว่าในรายละเอียดปลีกย่อย คนเราย่อมมีความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจ การงาน เพศ ผิว เชื้อชาติ ศาสนา ความโง่ ฉลาด ฯลฯ แต่ในทางศีลธรรมทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน คิดแบบอิมมานูเอล ค้านท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันก็คือ มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเองที่ต้องได้รับการเคารพอย่างเสมอ ภาค เราไม่สามารถใช้เพื่อมนุษย์เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายของตัวเราเองได้ เพราะเราต้องเคารพความเป็นอิสระในตัวเอง (autonomy) ของแต่ละคนที่จะใช้เหตุผลอย่างเป็นตัวของตัวเองในการตัดสินถูกผิด หรือการเลือกชีวิตที่ดีของตนเอง
 
สำหรับค้านท์ เงื่อนไขของความเป็นไปได้ในการมีศีลธรรมบนพื้นฐานของความเสมอภาคในความเป็น มนุษย์คือ “เสรีภาพ” หมายความว่า เราต้องมีเสรีภาพจากอิทธิพลครอบงำ การบังคับของอำนาจ องค์กรทางศาสนา จารีตประเพณี และอื่นๆ เสียก่อน การมีชีวิตที่มีค่าอย่างเป็นตัวของตัวเองจึงจะเป็นไปได้ หากเราจะยอมรับหรือทำตามคุณค่าหรือค่านิยมใดๆ ก็ต่อเมื่อได้ใช้เหตุผลของตนเองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าการยอมรับหรือทำ ตามคุณค่าหรือค่านิยมนั้นๆจะไม่เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของตัวเองและคน อื่นๆ
 
ฉะนั้น เราจึงต้องตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่องก่อนที่จะยอมรับหรือปฏิเสธ สังคมไทยที่มักอ้างอิงความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรมอันดี (?) อ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาเซ็นเซอร์ความคิดและการแสดงออกของประชาชน จึงเป็นสังคมที่ลดทอนความเป็นคนของประชาชน เป็นสังคมที่ทำลายศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายที่แฝงอยู่ในปัจเจกภาวะของ ประชาชน จึงเป็นสังคมที่ไม่เปิดกว้างสำหรับการสร้างสรรค์ที่อาจเป็นไปได้อย่างไม่ จำกัด
 
ข้อเสนอให้มีองค์กรเซ็นเซอร์คำเทศนาของพระ ว.วชิรเมธี จึงเป็นข้อเสนอเชิงอำนาจที่เป็นการลดทอนความหลากหลายของการตีความพุทธศาสนา ให้สนองตอบต่อความหลากหลายของทุกข์ในชีวิตปัจเจกและทุกข์ทางสังคม
 
และอันที่จริงแล้วก็เป็นข้อเสนอที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะจะตัดสินอย่างแน่นอนตายตัวลงไปได้อย่างไรว่าใคร “สอนตรงตามพระพุทธเจ้า” จริงๆแม้จะอ่านหรืออ้างพระไตรปิฎกจากข้อความเดียวกัน หรือพระสูตรเดียวกันก็เป็นไปได้เสมอที่จะมีการตีความต่างกัน เป็นแบบนี้มาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว แต่สังฆะหรือสังคมชาวพุทธก็ใช้วิธีตักเตือนกันอย่างกัลยาณมิตร ใช้วิธีแก้ไขด้วยวัฒนธรรมปรึกษาหารือของสังฆะกลุ่มต่างๆเอง ไม่เคยมีองค์กรระดับชาติจะมีอำนาจเซ็นเซอร์คำเทศนาพระสงฆ์ทั้งหมด
 
หากมีองค์กรอย่างที่ว่าจริง ถามว่าจะจัดการอย่างไรกับคำสอน “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” เพราะไม่มีหลักอ้างอิงในพระไตรปิฎกรองรับว่าตรงตามพุทธะสอนอย่างไร และหากจะว่าไปคำพูดนี้ไม่ว่าจะพูดในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าผู้พูดจะมีเจตนาสนับสนุนความรุนแรงหรือไม่ จะมีประวัติการศึกษาพุทธศาสนามาอย่างไร เป็นพระที่มีคนนับถือมากหรือไม่ แต่คำพูดที่ว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” ก็เป็นคำพูดที่มีความหมายรุนแรงในตัวมันเองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
 
นึกถึงที่ผมสัมภาษณ์อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เมื่อเร็วๆนี้ ตอนหนึ่งเราพูดถึงวัฒนธรรมการเรียนรู้พุทธศาสนาในสังคมไทย อาจารย์ประมวลตั้งข้อสังเกตว่า
 
“การเรียนรู้พุทธศาสนาเถรวาทไทยเป็นการปลูกฝังการคิดเรื่องผิดเรื่อง ถูก และการคิดเรื่องผิดเรื่องถูกนี้เป็นการคิดเชิงอำนาจ ก็คือพยายามใช้อำนาจของความคิดว่าดีเพื่อไปลงโทษหรือกำกับกระทำของคนที่คิด ว่าไม่ดี แม้กระทั่งในคนคนเดียวกันนี่แหละถ้าเราพูดในเชิงความหมายที่ละเอียดลึกซึ้ง ผมสารภาพตรงๆเลยนะครับว่าในสมัยที่ผมปฏิบัติธรรมแบบเถรวาทและมีความคิดว่า กิเลสเป็นมลทินต้องขจัดให้หมดสิ้นเป็นความคิดที่ผิด ในความรู้สึกของผมนะ แต่ผมไม่พูดสิ่งนี้กับคนอื่นนะครับ” 
 
ซึ่งผมมองว่า “การคิดในกรอบศาสนาเรื่องผิดเรื่องถูกเชิงอำนาจ” ดังกล่าวมันเป็นฐานของความรุนแรงในสังคม และอาจารย์ประมวลเสริมว่า “เป็นความรุนแรงในตัวเองด้วย เป็นความรุนแรงในตัวเองเลย”
 
ในความเห็นของอาจารย์ประมวลการเรียนรู้พุทธศาสนาควรเป็นเรื่องของวิถี ชีวิตที่ฝึกฝนบ่มเพาะสิ่งที่เรียกว่า “โพธิจิต” ให้เกิดขึ้นในตัวเราแต่ละคน หมายความว่า เราควนเปิดพื้นที่ทางจิตใจให้ปัญญาและกรุณาได้งอกงามขึ้นผ่านการใช้ชีวิต จริงๆ
 
ปัญญาคือการเลิกคิดเรื่องผิดถูกเชิงอำนาจ แต่พยายามมองความเป็นจริงอย่างเปิดกว้างไม่พิพากษาตัดสินผิดถูก นี่ไม่ใช่การไม่เคารพหลักการกติกาผิดถูกที่ชอบธรรมทางสังคม แต่หมายความว่าไม่ติดอยู่กับการคิดในกรอบผิดถูกตามความเคยชิน แต่เปิดให้กับความเป็นไปได้ที่เราจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆ ทั้งด้านดี ด้านร้าย ด้านที่เข้มแข็งและอ่อนแอเป็นต้นด้วยจิตใจที่มีกรุณาคือความรัก ความปรารถนาดี และแสดงออกต่อบุคคล ต่อบริบทต่างๆ รวมทั้งการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา ธรรม
 
นี่คือความหมายที่ผมสรุปจากการสนทนากับอาจารย์ประมวล เราเห็นสอดคล้องกันว่าแม้การเรียนรู้พุทธศาสนาในบ้านเราจะมีประโยชน์อยู่ ส่วนหนึ่งก็จริง (เช่นให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กชนบทอย่างผมเป็นต้น) แต่การเรียนรู้ในระบบพุทธศาสนาแห่งรัฐได้สร้างฐานวัฒนธรรมตัดสินผิดถูกเชิง อำนาจขึ้นมาในสังคม จนถูกนำไปอ้างอิงสนับสนุนความรุนแรงบ่อยๆ ในนามปกป้องอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นต้น
 
ที่สำคัญระบบการเรียนรู้พุทธศาสนาดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุ จุดหมายทางพุทธศาสนาเอง ดังอาจารย์ประมวลเล่าว่ามีพระราชาคณะท่านหนึ่งอายุประมาณ 90 ปีแล้ว รำพึงกับอาจารย์ว่า “โลกียสุขก็ไม่ได้เสพ โลกุตตรสุขก็ไปไม่ถึง” อาจารย์ประมวลบอกว่า “ผมสะเทือนใจมากเลยว่า นี่หรือภาพรวมของนักบวชไทยที่เป็นผลผลิตของระบบการเรียนรู้พุทธศาสนาไทย”
 
ผมอ่านข้อเสนอเรื่ององค์กรเซ็นเซอร์คำเทศนาของพระ ว.วชิรเมธีแล้ว ก็อดสะเทือนใจ (ต่อระบบและผลผลิตของการเรียนรู้พุทธศาสนาไทย) ไม่ได้เช่นกันครับ
 
 
 
 
 
หมายเหตุ:  เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข, 24-30 ส.ค.2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น