แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์และการไม่ยืนเคารพในโรงหนังของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา

ที่มา ประชาไท



“ การอ้างความเสมอภาค
เพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า
อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ
-ศ.ดร.สมภาร พรมทา –

บทไหว้ครู
ไม่ได้หมายความว่าผมจะเริ่มชกมวยดอกครับ แต่อยากจะเรียนว่าผมนั้นเป็นลูกศิษย์อาจารย์สมภาร พรมทา ตั้งแต่เป็นเณรน้อย ติดตามอ่านหนังสืออาจารย์มาตลอดตั้งแต่ยุคที่อาจารย์เป็น “พิลาปเหลือง” จนปัจจุบันก็ยังตามอ่านวาสารปัญญา (วารสารออนไลน์) ของอาจารย์อยู่เป็นประจำ ได้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญา และพุทธศาสนาจากอาจารย์มาก แถมยังได้อ่านบกวี ดูภาพวาดสวยๆ ฟังดนตรีเพราะๆ อันเป็นผลงานที่ไหลมาเทมาจากพลังภายในอันล้นเหลือของอาจารย์อีกต่างหาก ที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้คือวิจารณ์ “ความคิด” ของอาจารย์ที่เป็นของสาธารณะที่ใครจะวิจารณ์ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับตัวตนของอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือแต่อย่างใด

บทวิจารณ์เชิงแลกเปลี่ยน
ผมเพิ่งได้อ่านคำให้สัมภาษณ์เรื่อง “มังสวิรัติ การเมือง และเรื่องสถาบันกษัตริย์” ของอาจารย์สมภาร (ใน "ฉันคิด ฉันจึงพูด" รวมบทสัมภาษณ์ช่วง 5 ปี วารสารปัญญา) เนื้อหาส่วนใหญ่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ โดยเฉพาะที่อาจารย์เสนอว่า “สถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น” แต่เวลาที่อาจารย์อภิปรายประเด็นต่างๆ เหมือนกับว่าสภาพที่เป็นอยู่จริงเป็นดังข้อเสนอนั้นแล้ว ผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตเชิงแลกเปลี่ยนดังนี้

1) ที่อาจารย์สมภารชมในหลวงว่าแปลเรื่องของติโตผู้เป็นคอมมิวนิสต์นั้น แสดงว่า ในหลวงรู้พุทธศาสนาดี ยกย่องคนที่การกระทำ ถึงติโตจะเป็นสามัญชนแต่ก็เสียสละจนประชาชนรัก ทำนองว่าในหลวงใจกว้าง ไม่มองความสำคัญเรื่องชนชั้นของพระองค์เองหรือเรื่องที่เขาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นหลักอะไรประมาณนี้
คำถามคือ ก็ในเมื่ออาจารย์ยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนว่า “คนเราเกิดมาเท่ากัน” แต่อัตราโทษของ ม.112 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำคุก 3 ปี ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น 7 ปี ในสมัยเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็น 15 ปี หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จะอธิบายว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับ “คนเราเกิดมาเท่ากัน” ตามคำสอนของพุทธศาสนาอย่างไร
2) ที่ว่าผู้ต้องการประชาธิปไตย "จินตนาการกันไปเองว่ามีอำมาตย์ มีไพร่ มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่” นั้น คำถามคือ ถ้าเป็นแค่จินตนาการกันไปเอง อะไรคืออุปสรรคของการแก้ไข/ยกเลิก ม. 112 ครับ ก็ถ้าไม่ระบบมีชนชั้น แต่มีความเสมอภาคอยู่แล้ว ทำไมจำเป็นต้องมี ม.112 (เป็นต้น) อยู่ต่อไป?

3) ที่ว่า “ฝ่าย นิยมกษัตริย์นั้นเขาเรียกร้องเพียงว่า ในระหว่างนี้ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตย กรุณารักษาน้ำใจของคนที่รักพระเจ้าแผ่นดินบ้าง คนเราเห็นต่างกันได้ แต่อย่าเหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย ด้วยการแสดงความไม่เคารพ หรือแม้แต่ดูหมิ่นดูแคลนสิ่งที่เขาเคารพ”
ผมคิดว่าปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่น่าจะใช่ประชาชนอีกฝ่ายต้องการ “เหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย” คำถามง่ายๆ คือ คนรักเจ้าเขาไม่มีที่ยืน ไร้พื้นที่ทางสื่อ และทาง ฯลฯ จะสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงความเป็นคนดีที่จงรักภักดีสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่ใช่เลยครับ พื้นที่ของคนรักเจ้ามีอยู่ทุกอณูของแผ่นดิน อีกฝ่ายต่างหากที่เขาไม่มีพื้นที่จะวิจารณ์ด้วยเหตุผล พูดสิ่งที่เขาสงสัยออกมาตรงๆ ก็ไม่ได้ คนเขาถูกกระทำ ถูกฆ่าในนามข้ออ้างปกป้องสถาบันมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว พวกเขาทนไม่ไหวก็ระบายออกแบบนั้นในพื้นที่แคบๆ แต่ยังถูกไล่ล่า... ถามจริงๆ ครับคำด่าอย่างที่ดา ตอร์ปิโดด่าแล้วจำคุก 18 ปีนั้น (เป็นต้น) เปิดโอกาสให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างได้หรือเปล่าครับ
ยิ่งถ้าอาจารย์ยืนยันว่าเรื่องอำมาตย์ เรื่องไพร่ ความไม่เสมอภาคไม่มีแล้ว จินตนาการกันไปเอง ถ้าเช่นนั้นไม่มีอำมาตย์ ไม่มีไพร่ ก็ต้องมีความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องไม่มีการจำคุกประชาชนที่ทำผิดด้วยคำพูด/ข้อความ ตั้ง 18 ปี – 20 ปี ใช่ไหมครับ
ว่าตามจริงแม้แต่การใช้ “เหตุผล” ก็อาจถูกปฏิบัติจากอีกฝ่ายอย่างหยาบคายได้ เช่นโพสต์ในเฟซบุ๊คของอาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร (30 พ.ค.56) ช้างล่าง
วรเจตน์เล่าให้ผมฟังว่า...

ตอนบ่ายวันนี้ ขณะลงไปที่ชั้นล่างของคณะฯ เจอผู้ชายและผู้หญิงแปลกหน้าโดยบังเอิญ เมื่ออยู่ใกล้กัน ผู้หญิงคนนั้นเปรยขึ้นมาว่า "วันนี้ โชคไม่ดี มาเจอเหี้ยที่นี่"

วรเจตน์ถามกลับด้วยความสุภาพว่า "ด่าผมหรือครับ" ผู้หญิงคนนั้น ก็ตอบกลับมาว่า "พูดลอยๆ ใครอยากรับ ก็รับไป"

หลัง จากนั้น เมื่อคนแปลกหน้าทั้งคู่ เดินออกจากตึกคณะฯ ได้ประมาณ ๑๐ เมตร ผู้หญิงคนเดียวกัน ก็หันหน้ายื่นนิ้วกลางขึ้นมา พร้อมกับถอดรองเท้าแตะสะบัดใส่ แล้วก็เดินจากไป โดยวรเจตน์มองเห็นตัวหนังสือสีส้ม บนเสื้อสีดำด้านหลัง อย่างชัดเจนว่า "พสกนิกรผู้จงรักภักดี"

หลังเหตุการณ์นี้ วรเจตน์กับผมเห็นพ้องกันว่า ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนใหญ่ คงไม่เป็นอย่างนี้หรอกครับ

4) ส่วนที่อาจารย์ว่าเรื่องนายกรัฐมนตรีหมอบกราบในหลวงเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม รักษาไว้ไม่เสียหายอะไรนั้น เท่าที่ผมอ่านปาฐกถาของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์หลายเรื่องยืนยันว่า รัชกาลที่ 5 ทรงให้เลิกพิธีหมอบคลานไปแล้ว การเข้าเฝ้าใช้วิธีโค้งคำนับ แต่พิธีหมอบคลานถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในยุคเผด็จการสฤษดิ์นี้เอง

อาจารย์สมภารกล่าวว่า
“พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่สอนว่าทุกคนเกิดมา เท่ากัน ชาติกำเนิดต่างกันไม่เป็นปัญหา เพราะชาติกำเนิดไม่ใช่สาระความเป็นคน สาระความเป็นคนอยู่ที่มีปัญญาฝึกฝนได้ ความเชื่อว่าคนเราเท่ากันหรือไม่เท่ากันนั้นในทางปรัชญาสำคัญมากนะครับ เราถือว่านี่เป็นจุดตั้งต้นของระบบคิดในทางสังคมการเมืองที่มีอะไรต่างๆ ตามมาอีกมากมาย”
แต่อาจารย์กลับแสดงความเห็นเรื่อง “ไม่ยืนเคารพในหลวงที่โรงหนัง” ไว้ดังนี้
“การอ้างความเสมอภาคเพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ บางคนไปดูหนังไม่ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพในหลวง เพราะคนเราเท่ากัน ก็ไม่ว่ากันครับ จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่พวกเราที่เป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า แม้ข้างในคนเราจะเท่ากันในความหมายของการที่จะถูกฝึกสอนให้ดีให้งามได้ แต่ข้างนอกเราก็ต้องมีวัฒนธรรม ผมแปลกใจอยู่หน่อยหนึ่งคือ คนที่ไม่ลุกในโรงหนังนั้น เขาก็น่าจะเคยไหว้ใครอยู่บ้าง เช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขาเคารพ คนเราหากถือเคร่งในเรื่องที่เกิดมาเท่ากัน ที่สุดแล้วก็อาจเหมือนคนบ้า อย่าเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากขนาดนั้นเลยครับ สมมติว่าคนผู้นั้นไปบวช แล้วในหลวงเสด็จไปทอดกฐินที่วัดนั้น พระรูปนั้นลงมารับกฐิน ในหลวงก็ต้องไหว้ท่าน เห็นไหมครับ นี่คือวัฒนธรรม อย่าให้ความถือเคร่งเรื่องคนเราเท่ากัน ไปไกลเกินเลยขนาดนั้น เครียดเสียเปล่าๆ”

ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) การนับถือ ไม่นับถือใครเป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่ใช่หรือครับ ทำไมการอ้างความเสมอภาคในเรื่องสิทธิที่จะนับถือไม่นับถือใคร (รวมทั้งพระ และเจ้า) จึงเป็นเรื่องไร้สาระทางวิชาการ

2) ถ้าพุทธะสอนว่า “ข้างในของคนเท่ากัน” สิ่งที่ตามมาก็ควรจะเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมที่เคนเราเท่ากัน” ให้แสดงผลการปฏิบัติออกมาข้างนอก ดังระบบสังฆะที่เลิกระบบชนชั้นไป นี่หมายความว่าพุทธะเห็นว่าการสร้างวัฒนธรรมที่คนเราเท่ากันเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้น การมีแบบแผนวัฒนธรรมรองรับสิทธิเท่าเทียมของทุกคนที่จะแสดงความเคารพหรือไม่ เคารพใครก็ได้ก็คือการทำความหมายของความเสมอภาคให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ หรือเป็นวิถีชีวิตจริงๆ โดยวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่นั้น การไปแสวงหาความบันเทิงในโรงหนังก็ไม่ควรจะมีกฎข้อบังคับให้ใครต้องทำความ เคารพบุคคลใดเป็นพิเศษไม่ใช่หรือ

3) ถึงแม้คนที่ไม่ยืนในโรงหนัง เขาจะเคยไหว้อาจารย์ และฯลฯ แต่เขาก็ทำด้วยความสมัครใจ มีเสรีภาพ ไม่มีใครบังคับเขา ไม่มีกฎหมายให้ใครคอยแจ้งความเอาผิดเมื่อเขาไม่อยากทำ

4) ทำไมจึงมองเพียงว่าคนที่ไม่ยืนในโรงหนังเป็นคนเอาจริงเอาจังกับชีวิตขนาด นั้นล่ะครับ คิดว่าการกระทำของเขาเป็น “เรื่องส่วนตัว” ล้วนๆ เลยหรือครับ คำถามคือ การกระทำของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังต่างอย่างไรกับการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหา ของระบบวรรณะ ทำไมอาจารย์สรรเสริญการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหาของระบบวรรณะ แต่เห็นการกระทำในความหมายคล้ายกัน (ชี้ให้เห็นปัญหาวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียม-แม้แต่การไม่ยืนเคารพก็ต้อง ถูกกล่าวหาในทางกฎหมาย) ของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังไปในทำนองว่า “อาจเหมือนคนบ้า” เพราะเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากเกินไป เครียดเปล่า ๆ ตกลงการกระทำอะไรที่มี “เนื้อหา” คล้ายกัน มันไม่มีค่าเป็นความดีเหมือนกันหรือ
(บางคนบอกว่า คนที่มองการ “ไม่ยืน” เป็นปัญหา คอยสอดส่องจับผิด น่าจะเป็นพวกจริงจังกับชีวิตจนเกินไปมากกว่า ช่างไม่รู้จักปล่อยวางเรื่องของคนอื่นๆ บ้างเบย)

บทสรุป
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงต้องการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอส่วนใหญ่ของอาจารย์สมภารในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นไปใน ทางอยากให้แต่ละฝ่ายเปิดใจรับฟังและเข้าใจเหตุผลของกันและกัน เพื่อในที่สุดแล้วจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์ มีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น โดยไม่ต้องเกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีก ซึ่งผมขออนุโมทนาในเจตนารมณ์อันดีนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น