แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประธานศาลขว้างงู

ที่มา Voice TV

 ใบตองแห้ง Baitonghaeng


ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


ใช้เวลา 4 วันกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดเทปคำต่อคำ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีข้อกังขาคำพูดของท่านต่อคดียุบพรรค ตามที่ “มติชน” ถอดเทปว่า หากขณะนั้นบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลฝ่ายค้านจับมือกัน เชื่อว่าตุลาการเสียงข้างมากคงใช้ดุลยพินิจไม่สั่งยุบพรรค

ในกรณีที่หนังสือพิมพ์มติชน วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556 ได้สรุปคำต่อคำ ของประธานศาลรัฐธรรมนูญจากการสัมมนาดังกล่าวนั้น การสรุปดังกล่าวไม่ครบถ้วนทำให้ประชาชนเข้าใจในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย จำนวน 3 พรรค ไม่ถูกต้อง การแสดงความเห็นของประธานศาลรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสัมมนามีดังนี้

“ตอนยุบพรรคนะฮะ จริงๆ แล้วผมเคยพูดกับผู้สื่อข่าวไปว่า การตัดสินว่าทุจริตเลือกตั้ง องค์กรอื่นมีอำนาจตัดสิทธิ์ ถ้าให้ใบแดงก่อนรับรองผล กฎหมายเขียนว่า คำวินิจฉัยของ กกต.เป็นที่สุด เป็นที่สุดคือไม่ต้องเถียง เมื่อศาลฎีกาแจกใบแดงคุณยงยุทธ ติยะไพรัช ใช่ไหมฮะ คำพิพากษาของศาลฎีกาก็เป็นที่สุดเหมือนกัน จะมาอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เมื่อยุติว่าโกงเลือกตั้ง มันก็เจอรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ซึ่งจะตีหรือไม่ตีก็ตาม ก็อยู่ตรงนั้น ก็เพียงแต่ส่งมาให้พวกเราใช้ดุลยพินิจเท่านั้น

พูดตรง ๆ ถ้าความเห็นของผม รับปุ๊บ รับคำชี้แจงปุ๊บก็ตัดสินได้เลย ไม่ต้องมานั่งตรวจพยาน ไม่ต้องมานั่งทำอะไรกันหรอก ใช่ไหมฮะ จริง ๆ แล้ว ผมเสียดายด้วยซ้ำ ควรจะตัดสินให้เร็วกว่านั้น มันไม่ได้มีประเด็นเรื่องบุกสนามบง สนามบิน แล้วถามว่าใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ ไม่ยุบได้ไหม ได้ ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษ ผมเคยมานั่งสมมติกัน ตอนหลังนะ กับพรรคพวก จะเปิดเผยกันเลยดีไหม ว่า ถ้าพฤติกรรมมีการปรองดองกันในระหว่างฝ่ายรัฐบาล พรรคพลังประชาชนกับฝ่ายค้าน โอเคนะ จะประนีประนอมกันนะ เออ ตอนนั้น มีม็อบพันธมิตร ม็อบเสื้อเหลืองบุกทำเนียบ มีม็อบเสื้อแดงบุกบ้านป๋านะฮะ ทำลายทรัพย์สิน ห้องแถว แถวนั้น เราจะปรองดองกันอย่างไร จับมือกันได้ไหมระหว่างนั้น ถ้าบ้านเมืองมันไปได้ตอนนั้น ผมคิดว่า เสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะเราจะออกไปในทางว่าแม้จะผิด แต่เมื่อบ้านเมืองไปได้เห็นสมควรใช้ดุลยพินิจไปในทางไม่ยุบทั้งสามพรรค มันก็เป็นไปได้ ใช่ไหม แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องเดินไปตามนั้น ก็ดำเนินไปตามนั้นแหละ นี่ นี่คือข้อเท็จจริง ไม่ใช่เล่นตามกระแส

การสรุปคำต่อคำของหนังสือพิมพ์มติชนไม่ครบถ้วน ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาลรัฐธรรมนูญ และที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญแสดงทัศนะในการสัมมนา และหนังสือพิมพ์มติชนนำไปสรุปเป็นข่าวเฉพาะข้อความบางตอนที่เป็นเพียงการ สมมติขึ้นภายหลังจากที่มีคำวินิจฉัยแล้วเท่านั้น มิใช่เป็นการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

จึงชี้แจงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน และหากผู้ใดกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อ้าว ตอนท้ายมีขู่อีกต่างหาก นี่จะปิดปากห้ามวิพากษ์วิจารณ์กันหรือครับ ขอโทษที ทำอะไรผมไม่ได้หรอก เพราะที่ผมวิจารณ์ทั้งในข้อเขียน คำพูด ผมอ้าง “มติชน” ตลอด บอกอยู่แล้วว่า “ถ้า” เป็นไปตามที่มติชนถอดเทป ......

ฉะนั้น ถ้าท่านคิดว่าเสียหาย มติชนก็รับไป (ฮา) แต่ท่านก็เห็นมติชนตั้งแต่วันอาทิตย์แล้ว ทำไมไม่รีบออกมาแก้ รอให้คนเขาวิพากษ์วิจารณ์ใน 2 วันถัดมา ท่านจึงแก้


ความหมายเดียวกัน

ถ้อยคำที่ท่านแก้มา ในสาระสำคัญก็ไม่เห็นจะต่างกับที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือผมเข้าใจดีว่าไม่ใช่การพิจารณาของศาล แต่เป็นความเห็นของท่านวสันต์ และความเห็นนั้นแหละที่ไม่ถูก

“...ผมเคยมานั่งสมมติกัน ตอนหลังนะ กับพรรคพวก จะเปิดเผยกันเลยดีไหม ว่า ถ้าพฤติกรรมมีการปรองดองกันในระหว่างฝ่ายรัฐบาล พรรคพลังประชาชนกับฝ่ายค้าน โอเคนะ จะประนีประนอมกันนะ เออ ตอนนั้น มีม็อบพันธมิตร ม็อบเสื้อเหลืองบุกทำเนียบ มีม็อบเสื้อแดงบุกบ้านป๋านะฮะ ทำลายทรัพย์สิน ห้องแถวแถวนั้น เราจะปรองดองกันอย่างไร จับมือกันได้ไหมระหว่างนั้น ถ้าบ้านเมืองมันไปได้ตอนนั้น ผมคิดว่า เสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะเราจะออกไปในทางว่าแม้จะผิด แต่เมื่อบ้านเมืองไปได้เห็นสมควรใช้ดุลยพินิจไปในทางไม่ยุบทั้งสามพรรค มันก็เป็นไปได้ ใช่ไหม แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องเดินไปตามนั้น ก็ดำเนินไปตามนั้นแหละ นี่ นี่คือข้อเท็จจริง ไม่ใช่เล่นตามกระแส

สาระสำคัญยังเหมือนเดิมนะครับ เหมือนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือท่านบอกว่าถ้าบ้านเมืองไปได้ตอนนั้น เสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะก็จะออกไปในทางที่แม้ผิด แต่สมควรใช้ดุลยพินิจไปในทางไม่ยุบทั้ง 3 พรรค แต่เมื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนก็ต้องดำเนินไปตามนั้น

“มติชน” อาจถอดเทปผิดบางคำ แต่สาระสำคัญไม่เพี้ยน ซึ่งก็ต้องถามท่านว่านี่หรือคือหลักกฎหมาย เห็นว่าบ้านเมืองไปได้ก็จะหาช่องไม่ยุบ นี่บ้านเมืองไปไม่ได้จึงต้องยุบ

จำได้ไหมครับ กาลครั้งหนึ่ง ท่านวสันต์ไปเป็นพยานคดีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดี “ซุกหุ้น” ฟ้องประสงค์ สุ่นศิริ หมิ่นประมาท ท่านเคยพูดไว้อย่างไร ท่านบอกว่านายจุมพล ณ สงขลา มาขอคำปรึกษาว่าหากจะเขียนคำวินิจฉัยว่าทักษิณไม่มีความผิดไม่เข้าข่ายรัฐ ธรรมนูญมาตรา 295 ควรทำอย่างไร

พยานได้ถามว่า "ตกลงจะอุ้ม พ.ต.ท.ทักษิณใช่หรือไม่" โจทก์ร่วมที่ 7 ก็ตอบว่า "ประชาชนลงคะแนน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 11 ล้านเสียง จะเอาเสียงของคนไม่กี่คนไปถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ถูก"

พยานจึงทักท้วงว่า "ถ้าจะเอาแต่ประเด็นมาวินิจฉัย ก็ไม่ต้องไปอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ คดีควรมาอยู่ศาลแพ่ง เป็นผู้พิพากษาถ้าใครทำผิดกฎหมาย ให้คะแนนเสียงมากน้อยเท่าไร ก็ต้องลงโทษ" และยังแนะนำโจทก์ร่วมที่ 7 ว่า "หากจะอุ้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ควรวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า จงใจไม่ซุกหุ้นจะเหมาะสมกว่าเพราะเป็นดุลพินิจ"

นี่คัดมาจากคำพิพากษา ซึ่งอันที่จริงท่านก็แนะนำนะครับ ไม่ใช่ไม่แนะนำ ท่านบอกว่าถ้าจะอุ้มก็แนะให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดีกว่า (สอนวิธีอุ้มทักษิณ-ฮา)

แต่สาระสำคัญที่แสดงจิตวิญญาณของผู้พิพากษา อยู่ตรงที่ท่านบอกว่า “เป็นผู้พิพากษาถ้าใครทำผิดกฎหมาย ให้คะแนนเสียงมากน้อยเท่าไร ก็ต้องลงโทษ”

วรรคทองนี้เปลี่ยนเงื่อนไขได้ใช่ไหมครับ เช่น “เป็นผู้พิพากษาถ้าใครทำผิดกฎหมาย ต่อให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร ก็ต้องลงโทษ” คือถ้าทักษิณผิด ต่อให้บ้านเมืองไปไม่ได้ ไม่มีใครเป็นนายกฯ ผู้พิพากษาก็ต้องยืนยันว่าผิด จะเอาสถานการณ์บ้านเมืองมาเกี่ยวข้องกับการชี้ถูกผิดไม่ได้

หรือ “เป็นผู้พิพากษาถ้าใครไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ต่อให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร ก็ต้องให้พ้นผิด” สมมติท่านเห็นว่าพรรคพลังประชาชนไม่ผิด ไม่ว่าบ้านเมืองไปได้หรือไปไม่ได้ ท่านก็ต้องตัดสินไม่ยุบพรรค

จำได้ว่าครั้งแรกที่ผมได้ฟัง “วรรคทอง” ของท่านวสันต์เนี่ย ผมตบมือตีตีนไชโยโห่ร้องแซ่ซ้องสดุดีเลยนะครับ เพราผมชื่นชมในหลักการ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด อย่าเอากฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยอคติหรือสุคติ เช่น เห็นว่าตัดสินอย่างนี้จะเป็นผลดีกับบ้านเมือง

แต่พอมาฟังคำอธิบายคดียุบพรรคย้อนหลัง ผมก็มึนตึ้บเลยนะครับ ว่าควรจะยึดหลักไหนของท่านกันแน่ คำชี้แจงของศาลอ้างว่าเป็นเพียงการสมมติ แต่คนเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญมาสมมติแบบนี้ ไม่ใช่เด็กเล่นติ๊งต่างนะครับ จะให้บอกว่าเป็นคำพูดเลอะเทอะเหลวไหลไม่ได้ ใครจะบังอาจลบหลู่ท่านเช่นนั้นได้อย่างไร คนฟังก็ต้องเชื่อว่าท่านคิดเช่นนั้นจริง ทำได้เช่นนั้นจริง

เอาละ สมมติไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีเลย เป็นคำพูดสมมติ ท่านเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประมุขขององค์กรตุลาการที่คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร ผู้พิพากษา ตุลาการ นิติกร นักกฎหมาย นิสิตนักศึกษา ย่อมเชื่อถือและนำาคำกล่าวของท่านไปศึกษาประกอบตำรากฎหมาย อยู่ๆ ท่านมาบอกว่า ถ้าบ้านเมืองไปได้ แม้ผิดก็ไม่ยุบ นี่บ้านเมืองไปไม่ได้จึงต้องยุบ ตำรากฎหมายจะไม่สับสนวุ่นวายไปหมดหรือครับ

สมมตินะ สมมติ ถ้าท่านคิดเช่นนั้นจริง แล้วทำให้วินิจฉัยไปเช่นนั้น มันก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ตุลาการจะเอาอคติสุคติมาใช้ในการวินิจฉัยคดีไม่ได้ เพราะพวกท่านเป็นผู้รู้ทางกฎหมาย ไม่ใช่พหูสูตที่จะประเมินสถานการณ์บ้านเมืองได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพราะคดียุบพรรคไม่ได้ทำให้บ้านเมืองสงบ คดียุบพรรคทำให้เกิดการลุกฮือของมวลชนเสื้อแดงในปี 2552 และเหตุการณ์นองเลือดในปี 2553 ตามมา

นี่ผมไม่ได้บอกว่าถ้าอย่างนั้นไม่ควรยุบพรรค แต่ท่านจะใช้ดุลยพินิจอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้วันพรุ่งนี้โลกแตกสลายไป ท่านก็ต้องทำหน้าที่ ชี้ถูกชี้ผิด โดยไม่หวั่นไหว ผู้คนจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความมั่นคงในหลักจะเป็นเกราะปกป้องตุลาการเอง


ปมคาใจ?

ผมขำๆ ปนประหลาดใจ ที่ท่านวสันต์มักจะพูดย้อนหลังถึงคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้ว แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เหมือนกับท่านรู้สึกเป็นปม ที่มันค้างคาอยู่ ต้องทำให้คนเข้าใจให้ได้ แต่ยิ่งอธิบาย ก็ยิ่งยุ่งเหยิง เหมือนยิ่งแก้แหก็ยิ่งพันตัว

พูดอีกอย่าง ท่านรู้สึกเหมือนคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้เป็น “งู” ที่ตามฉกตุลาการอยู่ตลอด ท่านจึงต้องพยายาม “ขว้างงู” (พ้นหรือเปล่าไม่รู้ แล้วแต่สาธารณชนวินิจฉัย)

วันครบรอบศาลรัฐธรรมนูญปีที่แล้ว จำได้ไหม ท่านก็อธิบายคดียุบพรรค ว่าศาลรัฐธรรมนูญทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำหน้าที่เหมือนปอเต๊กตึ๊งเก็บศพ เพราะ กกต.แจกใบแดงมาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสินแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยุบพรรคตามมาตรา 237 โดยอัตโนมัติ

แต่ครั้งนี้ ท่านกลับบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่เก็บศพอย่างเดียว

“แล้วถามว่าใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ ไม่ยุบได้ไหม ได้ ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษ”

พูด 2 ปีนี่ขัดกันสิ้นเชิงนะครับ ปอเต๊กตึ๊งยังสามารถผายปอดให้ศพฟื้นได้ ถ้าจะทำซะอย่าง

พูดปีนี้ ท่านก็เป็นข่าวพาดหัวฮือฮา ว่าคำวินิจฉัยคดีชิมไปบ่นไป “สุกเอาเผากิน” พูดแล้วเป็นเรื่อง ต้องชี้แจงพัลวันว่า ไม่ได้หมายถึงเนื้อคำวินิจฉัย แต่หมายถึงวิธีเขียนคำวินิจฉัย

“...อย่างคดีคุณสมัครนี่ เอ้า ระบุไปเลย คดีอดีตนายกฯสมัครนี่ เราประชุมกันเก้าโมงครึ่ง ทุกคนก็ถือคำวินิจฉัยส่วนตัวเข้าห้องประชุม เมื่อได้มติ เจ้าหน้าที่ก็จะยกร่างเอาตามเหตุผลตรงนั้น สดๆ ร้อนๆ เรานัดอ่านไว้รู้สึกจะบ่ายสอง แล้วก็ทำไม่ทัน ฉุกละหุก ฉุกเฉิน มันก็เหมือนกับการสุกเอาเผากิน ใช่ไหมฮะ กว่าจะได้อ่านเอาสี่โมงครึ่ง เย็น แล้วก็มีข้อผิดพลาด เป็นคำวินิจฉัยที่ ที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ไม่ ต้องพูดถึงเรื่องพจนานุกรมนะ แล้วอันนั้นก็ผิดด้วย เมื่อไปเปิดพจนานุกรมจริงก็ผิดด้วย ผิดสิ เพราะมันต้องโยงกันหลายอย่าง ไม่ใช่ ดูตัวเดียวไม่ได้  คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่ถูกต้อง ต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ยุติก่อน คดีทุกเรื่องมันจะมีข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงคือมีการทำอย่างนั้นจริงหรือไม่ นะฮะ ข้อกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วจึงจะมาสู่ข้อกฎหมายว่าแล้วมันผิดหรือไม่ผิด ข้อเท็จจริงต้องยุติก่อน คดีเรื่องนี้ ท่านนายกฯสมัครท่านก็ต่อสู้ว่าไม่ได้รับตังค์ ต้องวินิจฉัยให้เสร็จเรียบร้อยก่อนว่าตกลงรับหรือไม่ได้รับ รับหรือไม่ได้รับ นี่กลับไปเป็นว่าเอาข้อกฎหมายขึ้นก่อน แล้วมาเขียนข้อเท็จจริงทีหลัง เพราะงั้นเมื่ออ่านการวินิจฉัยข้อกฎหมายเขารู้แล้วว่าผลจะเป็นยังไง ข้อเท็จจริงต้องยุติก่อนจึงจะไปสู่ข้อกฎหมาย อันนั้นยอมรับว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง เกิดจากการสุกเอาเผากิน ซึ่งในระยะหลัง เราจึงไม่ทำแบบนั้น”

นี่ผมฟังจาก Tnews นะครับ คลิกที่นี่ :Tnewsฟังชัด ๆ! คลิป"วสันต์"กรณีตัดสินคดี"สมัคร"ใช้ไม่ได้ -ความจริงเป็นอย่างนี้???? เชื่อว่าไม่ถอดคำพูดผิด ถ้าผิดไปโทษสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (ฮา)

ผมฟังแล้วมันมีปัญหามากกว่าที่ท่านบอกว่าเป็นแค่ “วิธีเขียน” สิครับ เพราะท่านพูดชัดเจนว่า “เป็นคำวินิจที่ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง” แล้วอย่าลืมว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร

ถ้าอย่างนี้ “คำวินิจฉัยที่ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง” มีผลผูกพันทุกองค์กรไหม

โอเค ผลของมัน คือสมัครตกเก้าอี้ไปแล้ว แต่คำวินิจฉัยส่วนอื่นล่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยว่า พฤติกรรมอย่างไรจึงเป็น “ลูกจ้าง” ผมฟังครั้งแรก ก็เข้าใจตาม “คำวินิจฉัยที่ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง” นี้ว่าเป็นเพราะศาลอ้างพจนานุกรม ตีความตามพจนานุกรมว่า แค่ทำงานให้แล้วได้เงินตอบแทน ก็ถือเป็นลูกจ้างแล้ว

ลูกจ้างน. ผู้รับจ้างทำการงาน; (กฎ) ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน)

แต่นี่ท่านวสันต์กำลังบอกว่า เหตุผลของศาลไม่ใช่แค่พจนานุกรมอย่างเดียว มันต้องโยงกันหลายอย่าง การอ้างพจนานุกรมนั้นผิด อ้าว! แล้วอ้างอะไร ที่ว่าโยงกันหลายอย่างคืออะไรบ้าง

เมื่อไม่มีในคำวินิจฉัย ประชาชนจะเข้าใจได้ไงละครับ แล้วท่านก็ปล่อยให้ใครต่อใครวิพากษ์วิจารณ์กันมาตั้ง 4-5 ปี ค่อยมาเผยว่า คำวินิจฉัยนี้ “ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง”

แล้วถ้าใครต่อใครเข้าใจผิด เอาคำวินิจฉัยนี้ไปใช้ตีความ “ลูกจ้าง” เพราะคำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร ท่านจะว่าอย่างไรครับ

ฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องถามคือเมื่อคำวินิจฉัยนี้ “ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง” แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร จะยกร่างคำวินิจฉัยใหม่ อธิบายใหม่ ได้ไหม ผมจะได้ถึงบางอ้อ ไม่ตกค้างอยู่บางพลัด หายคลางแคลงใจเสียที

ข้อกังขาต่อเนื่องไปกว่านั้นคือ ที่ท่านบอกว่า “ระยะหลังเราจึงไม่ทำแบบนั้น” จริงหรือเปล่า เพราะคดีร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเข้าข่ายมาตรา 68 ก็มีข้อกังขา คำวินิจฉัยที่แถลงออกมา ไม่ตรงกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ โดยเฉพาะที่บอกว่า ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญควรลงประชามติก่อน พอไปพลิกดูคำวินิจฉัยส่วนตน กลับปรากฏว่ามีตุลาการแค่ 2 ใน 8 ที่เห็นว่าต้องทำประชามติก่อน

อันนี้ใช้ได้ไหมครับ อันนี้สุกดีเผาได้ที่แล้วหรือ

อ้อ แล้วย้อนกลับไปอีกนะ คำวินิจฉัยเรื่องไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตอนที่ศาลแถลงครั้งแรกก็บอกว่า “หมดอายุความ” คือนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องเกิน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่พอคำวินิจฉัยออกมากลายเป็นว่าตุลาการที่ลงความเห็นอย่างนี้มี 1 เสียงเท่านั้น อีก 3 เสียงบอกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ลงความเห็น อ้าว!

นี่ผมไม่ได้โต้แย้งในเนื้อหาเลยนะครับ เห็นด้วยเห็นต่างเป็นอีกเรื่อง แต่พูดถึงคำแถลง กับคำวินิจฉัยส่วนตนที่ออกมา มันไม่ต้องตรงกัน ทั้งที่ท่านก็บอกอยู่ว่า ก่อนเข้าห้องตุลาการแต่ละท่านต้องพกคำวินิจฉัยส่วนตนมา

ย้อนมาที่คดีปั้นอากาศเป็นตัว รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับโดนหาว่าล้มล้างระบอบ ท่านวสันต์ก็พูดว่า “ตอนแรกถ้าไม่รับ สบาย ถ้ารับ เป็นเรื่อง แต่ก็กัดฟันรับไว้ก่อน เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง ไต่สวนแล้วไม่มีไรก็จบ”

ฟังแล้วไม่ตลก เพราะมันแปลว่าที่จริงท่านไม่รับก็ได้ แล้วที่รับมาก็ไม่มีผลอะไร จบ

ไม่มีจริงหรือครับ เพราะศาลไปทิ้งปริศนา ต้องลงประชามติก่อนหรือไม่ ตามคำวินิจฉัยที่อ้างแล้ว ซึ่งขัดกับคำวินิจฉัยส่วนตน และไม่ได้อยู่ในประเด็นแห่งคดี แต่โฆษกศาลแถลงว่า “ควร” แล้วพอขอคำอธิบาย ท่านก็ไม่ให้

ที่สำคัญคือการรับคำร้องตามมาตรา 68  ทำให้ศาลสถาปนาอำนาจตัวเอง สามารถก้าวล่วงเข้ามาอนุญาต หรือไม่อนุญาต ให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจไว้

นี่ไม่ใช่เรื่องรับก็ได้ ไม่รับก็ได้ ไม่รับสบาย กัดฟันรับ ฯลฯ แต่จะรับหรือไม่รับ ท่านต้องมีหลัก

ทีหน้าทีหลังจะจัดงานอีกก็อย่าเชิญแต่พวกที่กด like ไปสิครับ มีอะไรจะได้ทักท้วงกันแต่ต้น แทนที่จะเชิญนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก็เชิญเกษียร เตชะพีระ แทนที่จะเชิญเจษฎ์ โทณะวณิก ก็เชิญวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แทนที่จะเชิญประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ก็เชิญคำ ผกา ฮิฮิ (แต่ประสงค์พูดดีนะ เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา การสรรหา ให้หลากหลายขึ้น)


เรื่องดี: ปกป้องสิทธิ

อย่างไรก็ดี ที่ท่านวสันต์บอกให้ชมศาลหน่อย เรื่องการวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41ขัดรัฐธรรมนูญ ผมก็ขอชมจริงๆ ครับ เพราะมาตรานี้ ที่ให้บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาจากการสืบพยานต่างประเทศ ถือเป็นพยานหลักฐานและเอกสารที่รับฟังได้ตามกฎหมายนั้น ขัดต่อหลักนิติธรรมและจำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาอย่างที่ท่านว่าจริงๆ

คือการพิจารณาคดีในศาลตามปกติ เมื่ออัยการนำพยานขึ้นเบิกความ ทนายจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะซักค้าน ตรวจสอบ หักล้าง แต่เมื่ออัยการไปสืบพยานต่างประเทศ อัยการก็ซักข้างเดียว แล้วนำพยานหลักฐานมาเสนอต่อศาล โดยทนายจำเลยไม่ได้ซักค้านเลย

เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญจึงถูกต้องแล้ว ที่ว่า “เป็นพยานหลักฐานที่ จำเลยไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบหรือรับทราบ และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนาย อันเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 40(2) (3) (4) และ (7)”

ถึงแม้มันจะเป็นคดีสำคัญ กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นคดีที่จำเลยคือ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม น้องชาย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา อดีตหัวหน้าสำนักงาน คมช.ก็ตาม เพราะหลักต้องเป็นหลัก ไม่ว่าใครเป็นโจทก์จำเลย

ส่วนที่ท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ท่านทวี ประจวบลาภ บอกว่าหากภายหลังมีคดีอื่นที่จะต้องส่งประเด็นไปนำสืบต่างประเทศ คู่ความสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยไปในแนวทางเดิมหากมีเหตุผลใหม่ หรือเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือหากมีการเปลี่ยนคณะตุลาการรัฐธรรมชุดใหม่ (เพราะมติ 5-4 เหมือนคดีทักษิณไม่ทุจริตแต่ติดคุกเปี๊ยบ)

ผมว่าท่านเข้าใจผิดแล้วครับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เมื่อวินิจฉัยออกมาอย่างนี้ มาตรา 41 ก็ใช้ไม่ได้เลย เท่ากับไม่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เว้นแต่รัฐบาลจะนำไปแก้ไขใหม่ เช่น บัญญัติว่าเมื่ออัยการเดินไปทางสืบพยานต่างประเทศ ต้องให้ทนายจำเลยไปซักค้านด้วย แต่ก็จะมีปัญหาอีกว่าใครออกค่าใช้จ่ายให้ทนาย ถ้าให้จำเลยจ่าย ก็จะเพิ่มภาระให้เขาไหม

ทางที่ดี ก็คือมีการสืบพยานผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์อย่างท่านว่า โห นี่มันโลกยุคไหนแล้ว ทักษิณยังสไกป์เข้าที่ประชุมพรรค สืบพยานผ่านสไกป์ก็ไม่เห็นเป็นไรไป ประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องส่งอัยการไปนอก

ขอเล่าเกร็ดซักนิดว่า การสืบพยานต่างประเทศนี้มีมานานแล้ว ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คือ คดีสวรรคต ร.8 ซึ่งในหนังสือ “คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร. 8” ฉบับพิมพ์เนื่องในโอกาส 100 ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543 ซึ่งสันติสุข โสภณศิริ (ผัวรสนา) เป็นบรรณาธิการ อ.ปรีดีทักท้วงว่า มีการทำผิดกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายของศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้จำเลยตามไปสืบพยานซักค้านในหลวงและพระราชชนนีที่ สวิตเซอร์แลนด์, ไม่มีการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยคดี, วินิจฉัยกล่าวหาปรีดีลับหลังอย่างผิดความจริง และตัดสินประหารชีวิตจำเลยทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถระบุว่าใครคือผู้ยิงรัชกาลที่ 8

อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเด็นแรก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แย้งว่าความจริงในหลวงทรงให้การที่ประเทศไทย โดยทนายจำเลยได้ซักค้าน และจำเลยทั้ง 3 ก็อยู่ด้วย ปรีดีเข้าใจผิดเพราะหนังสือ “ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์” ที่เขียนโดยชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ซึ่งถูกปรีดีฟ้อง พิมพ์ตกหล่นจนเข้าใจผิด มีเพียงสมเด็จย่าฯ ที่สืบพยานที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยจำเลยไม่ได้ไปด้วย

ในคำแถลงปิดคดี นายฟัก ณ สงขลา ทนายจำเลยได้ยกประเด็นการสืบพยานโดยจำเลยไม่ได้อยู่ด้วยว่า “การ ที่ศาลให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาในต่างประเทศ ซึ่งจำเลยไม่สามารถที่จะติดตามไปฟังฟังการพิจารณาได้ ศาลก็ยอมจะถือเอาพยานหลักฐานในการดำเนินการพิจารณานอกประเทศนั้นประกอบเป็น หลักฐานลงโทษจำเลยไม่ได้" ซึ่งศาลอุทธรณ์โต้แย้งว่า "การไปเฝ้าเผชิญสืบสมเด็จพระราชชนนี ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับตามกฎหมายศาลจะทำการสืบพยานนอกศาล ณ ที่ใดก็ได้"(ดูบทความ 50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล)

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    21 มี.ค.56
.......................................



21 มีนาคม 2556 เวลา 11:10 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น