แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ตุลากร่าง :เมื่อผู้พิพากษาระรานนอกศาล

ที่มา Thai E-News


"ผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาจะไม่พบเลยว่าตุลาการ หรือผู้พิพากษาศาลใดออกมาให้ข้อคิดเห็นตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์คดีที่ตัดสิน ยิ่งการแถลงข่มขู่ หรือก้าวร้าวประดุจดังผู้ทรงอำนาจวิเศษสุด หรือแม้แต่กระแนะกระแหนแบบที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไทยกระทำเกือบจะเป็นนิสสัย ยิ่งไม่ปรากฏ"
 
คำตัดสินของศาลอาญาไทยให้จำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ๑๑ ปี จากคดีที่เขาถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นที่วิพากษ์ และโต้แย้งอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในแวดวงสิทธิมนุษยชนนานาชาติ
นับแต่ความ เป็นห่วงอย่างลึกซึ้ง (Deeply concerned) จากคณะผู้แทน และคณะทูตของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยที่ว่า คำพิพากษาบ่อนทำลายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนในเรื่องเสรีภาพการแสดงออก และเสรีภาพของหนังสือพิมพ์
และความเป็นห่วงลึกซึ้งเช่นกันจากนางนาวี่ พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สหประชาติด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งต่อคำพิพากษา และการลงอาญาอย่างรุนแรง ว่า ส่ง สัญญานอันไม่บังควรแก่เสรีภาพแห่งการแสดงออกในประเทศไทย คำพิพากษาของศาลเป็นมาตรวัดล่าสุดสำหรับแนวโน้มที่น่าวิตกของการใช้การฟ้อง ร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์ไทยเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ไปจนกระทั่งคำติติงขององค์การนิรโทษกรรมสากลที่ว่า เป็นการก้าวถอยหลังขั้นร้ายแรงของเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย และคำตักเตือนขององค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ที่ว่า คำสั่งศาลดูจะเกี่ยวข้องกับการที่สมยศสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อย่างแข็งขัน มากกว่าจะเกี่ยวกับอันตรายใดๆ ต่อสถาบันฯ (กษัตริย์ไทย)*(1)
จากนั้นก็ปรากฏมีการตอบโต้ต่อคณะผู้แทนอียูจากผู้เรียกตัวว่า คนไทยคนหนึ่ง โดยใช้นามสำหรับข้อเขียนภาษาไทยว่า Robert Pattinzon และเจริญขวัญ บลาฮาสสกี้ ในข้อเขียนภาษาอังกฤษ เนื้อความเน้นด้วยประโยคว่า เพราะคนในประเทศนี้ เราไม่ยอมรับเสรีภาพในการหมิ่นประมาทสถาบันอันเป็นที่รักของเรา
ซึ่งก็หนีไม่พ้นมีผู้เขียนจดหมายตอบกลับจาก คนไทยอีกคนหนึ่งเช่นกัน โดยผู้ใช้นาม Rood Thanarak เขียนทั้งภาษาไทย และอังกฤษ มีเนื้อความโดยสรุปสั้นๆ ตามถ้อยโสลกจั่วหัวที่ว่า “To protect and defend the Thai monarchy, you must defend freedom”*(2)
แม้ จะเป็นการโต้ตอบด้วยจุดยืนที่ต่างกันลิบลับระหว่างแนวคิดลัทธิกษัตริย์นิยม แบบโดดเดี่ยวที่เห็นว่าเสรีภาพจะมีไม่ได้ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทสถาบัน อันเป็นที่รัก ด้านหนึ่ง กับผู้ที่ยึดหลักสากลแห่งเสรีภาพส่วนบุคคลด้วยความรอมชอมว่า การปกป้องเสรีภาพจะเป็นคุณแก่การปกป้องสถาบันกษัตริย์ไทยไปด้วย แต่นี่คือการโต้เถียงในอารยธรรมประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ และไม่ขัดข้อง
ทว่าอาการขัดข้อง และระราน (แม้จะไม่กร้าวแข็ง) ของผู้พิพากษาระดับอธิบดีท่านหนึ่งนั่นสิ ฉุดให้กระบวนการยุติธรรมไทยซึ่งกำลังเป็นที่เพ่งเล็งในประชาคมโลกว่าไม่เป็นกลาง หรือลำเอียง (Un-impartial) แล้วยังถูกตั้งข้อสังเกตุจะแจ้งว่า รุนแรง (Harsh) ไม่ต้องตามครรลองนิติธรรมสากล (Universal Rule of Law)
แม้นว่าคำกล่าวหาในภาษาไทยจะผ่อนคลาย และดูเกรงอกเกรงใจอยู่มากว่าท่าน กร่าง เท่านั้นเอง
นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาให้สัมภาษณ์ครั้งแรกตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลในคดีนายสมยศว่า ในเรื่องนี้ก็มีการพูด เเละวิจารณ์ศาลเพียงด้านเดียวว่าป่าเถื่อน ตัดสินมากเกินไป การที่ศาลไทยตัดสินลงโทษจำคุกนายสมยศกระทงละ ๕ ปีนั้น รวม ๒ กระทงถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะอยู่ระหว่างกลางระหว่างอัตราโทษต่ำสุดของมาตราคือ ๓ ปี และสูงสุดคือ ๑๕ ปี ศาลตัดสินตามตัวบทบัญญัติกฎหมายที่มีในประเทศ”*(3)
การออกมาแก้ต่างให้กับคำตัดสินของศาลเช่นนี้ อาจถือว่าเป็นปกติในสังคมประชาธิปไตยที่ผู้พิพากษามาชี้แจงเป็นการต่างหากจากคำพิพากษาได้ แม้การอ้างเหตุผลว่าโทษที่ให้เหมาะสมแล้วเพราะเป็นไปตาม ตัวบทกฏหมายที่มีในประเทศ นั่นน่าจะเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง ในเมื่อข้อวิพากษ์มีจุดมุ่งหมายที่ปลายทางว่าอัตราโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ องค์มกุฏราชกุมาร ตลอดจนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้จำคุกไม่ต่ำกว่า ๓ ปี ไม่เกิน ๑๕ ปีนั้น รุนแรง เกินกว่ามาตรฐานในทางสิทธิมนุษยชนสากล
รวม ไปถึงข้ออ้างว่าศาลยุติธรรมไม่มีหน้าที่ไปคำนึงถึงโทษว่าหนักหรือเบาเพราะ ถือเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นก็เป็นการปัดสวะให้พ้นตัว ทั้งที่หากจะสาวกันไปให้ถึงปลายเหตุแล้วโทษหนักเกินกว่าทางปฏิบัติในหลัก นิติธรรมสากลเช่นนี้เป็นผลพวงมาจากกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอันเริ่ม แต่การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๙
แล้วรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร คปค. ดำเนินการแก้ไขกฏหมายอาญาหมวดที่ว่าด้วยการละเมิดต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยการเพิ่มโทษรุนแรง และกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ เป็นผลให้ใครก็ตามสามารถฟ้องร้องใครก็ได้ด้วยกฏหมายนี้ แล้วผู้ต้องหาไม่มีทางที่จะหลุดคดี หรือพ้นโทษจองจำได้เลย (เว้นแต่จะยอมรับสารภาพไปก่อน แล้วขอพระราชทานอภัยโทษภายหลัง)
ต่อมาท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกให้สัมภาษณ์อีกเป็นครั้งที่สองถึงบทความของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ว่า บทความนี้เป็นการดูหมิ่นศาล ไม่ใช่การเเสดงออกทางวิชาการ เป็นการเเสดงความคิดเเบบคนไม่เข้าใจระบบ เเละจงใจดิสเครดิตศาล เป็นผลให้นายวีรพัฒน์ นักกฏหมายอิสระเขียนคำชี้แจงว่า ผมขอยืนยันความบริสุทธิ์ และสุจริตใจที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการ ว่าการแสดงความเห็นของผมทั้งหมดตลอดมานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ และความคาดหวัง และศรัทธาที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการอันต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน
โดยคำชี้แจงของนายวีรพัฒน์มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า แต่เมื่อเอกสารย่อคำพิพากษามีเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ผมจึงได้ตั้งคำถามในเชิงตรรกะตามหลักวิชาการต่อไปว่าหากศาลนำมาตรา ๑๑๒ มาเอาผิดกับผู้ตีพิมพ์บทความเพียงบทเดียวในฐานะภัยต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้แล้วไซร้ ก็น่าสงสัยว่าศาลกำลังเห็นว่าพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไทยอันเป็นที่ยกย่องสรรเสริญทั่วไปทั้งใน และต่างประเทศ แท้จริงแล้วก็สามารถถูกทำลาย และล้มครืนลงจนกระทบต่อความมั่นคงได้โดยง่าย เพียงเพราะ 'บทความหนึ่งฉบับ' กระนั้นหรือ
และหาก 'ตรรกะ' ของ 'ศาลอาญา' เป็นดังนี้ ก็ย่อมน่าสงสัยว่าศาลกำลังดูแคลน 'พระเกียรติยศ' ของพระมหากษัตริย์ไทย อีกทั้งดูถูกสติปัญญา และวิจารณญาณของประชาชนคนไทยอย่างโจ่งแจ้งที่สุดหรือไม่ *(4)
ฤๅจะเป็นด้วยการให้เหตุผลดังข้างต้นทำให้นายทวีออกให้สัมภาษณ์อีกในวันรุ่งขึ้นว่า ไม่ติดใจจะถือสาหาความอีก เเละจะถือเป็นการเเสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ซึ่งบทความในครั้งเเรกมีลักษณะที่สั้นเกิน เเละมีความเเข็งกร้าว หากแต่นายทวีมิได้หยุดอยู่แค่นั้น ท่านก้าวไปยังส่วนอื่นอันสามารถก่อการร้าวรานได้
ท่านกล่าวว่า เเต่ในส่วนของกรณีอื่นๆ ก็จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป อาทิกรณีของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีลักษณะเเข็งกร้าวเกินพอสมควร มีเเนวคิดเเละบทความที่สื่อออกมาที่จะเสียหายต่อสถาบันเเละศาลรุนแรง และแข็งกร้าวมากว่านายวีรพัฒน์เป็นสิบเท่า ซึ่งมองว่าสุ่มเสี่ยงมาก ทางศาลกำลังดำเนินการตรวจสอบ เเละพิจารณาต่อไปว่าจะออกหมายเรียกมาสอบถามหรือไม่
นี่เป็นการแสดงกิริยาโต้ตอบด้วยความกร่างอย่างนักการเมือง อันไม่ใช่บุคคลิกภาพอันสูงส่งตามอุดมคติแบบไทยๆ ที่ยกย่องเทอดทูนผู้พิพากษาตุลาการประดุจผู้ทรงคุณธรรมล้ำเลิศหรือไม่ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงในสิ่งแวดล้อมของจิตสำนึกแบบประชาธิปไตยสากล โดยส่วนตนแห่งปัจเจกชนแล้วผู้พิพากษาย่อมเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองได้ตามธรรมชาติ ไม่เช่นนั้นคงต้องกำหนดห้ามผู้พิพากษาไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งละมัง
หากแต่ในการพิจารณาคดีความ ผู้พิพากษาในสังคมประชาธิปไตยจักต้องเดินตามหลักกฏหมายสากลที่อิงกับหลักสิทธิมนุษยชนเหนียวแน่น โดยเฉพาะในคดีที่เป็นความผิดอาญา และความมั่นคงแห่งรัฐ ผู้ที่ศึกษากระบวนการยุติธรรมในประเทศอารยะจะพบว่าในการตัดสินของผู้พิพากษาบ่อยครั้งแสดงถึงความลำเอียงในทางการเมืองเรื่องพรรค และฝักฝ่าย
ครั้นเมื่อตัดสินไปแล้ว ผู้เสียหายยังมีความหวังได้เสมอว่าจะสามารถแก้ไขได้ในกระบวนการขั้นต่อไป หรือทางการตรวจสอบอื่นๆ ที่ระบบการคานอำนาจอำนวยให้
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกระบวนการศาลในสหรัฐจากกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น อันได้รับการวิพากษ์จากสื่อว่ามีการตัดสินอย่างเป็นฝักเป็นฝ่ายในทางการเมือง ถึงแม้ในเนื้อหาของคดีจะไม่ได้เป็นเรื่องอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทประมุขอย่างของประเทศไทย แต่ในแบบแผนของประชาธิปไตยน่าจะพอเป็นอุทธาหรณ์ได้ว่าผู้พิพากษาของเขาถึงจะไม่ได้เป็นกลางที่สุด เขาก็ไม่กร่าง ไม่แอบหลัง หรืออ้างอิงอำนาจสูงสุดอันมิอาจตรวจสอบได้อย่างผู้พิพากษาไทย
ศาลฎีการัฐบาลกลางสหรัฐในท้องที่ District of Columbia พิพากษาเมื่อวันศุกรที่ ๒๕ มกราคมนี้ว่า การแต่งตั้งกรรมการอำนวยการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สามคนโดยประธานาธิบดีโอบาม่าเมื่อปีที่แล้ว ละเมิดรัฐธรรมนูญ และจะเป็นผลให้การแต่งตั้งนั้น รวมไปถึงการแต่งตั้งครั้งอื่นๆ โดยประธานาธิบดีคนอื่นๆ โดยกรรมวิธีเช่นนี้ย้อนหลังไป ๑๕๐ ปีต้องถูกยกเลิก และคำสั่งพร้อมทั้งคำตัดสินกรณีต่างๆ ที่คณะกรรมการอำนวยการซึ่งได้รับแต่งตั้งมาด้วยกรรมวิธีเดียวกันต้องถูกล้มเลิกเช่นกัน
คำ ตัดสินนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในกรุงวอชิงตันดี.ซี. เนื่องจากผู้พิพากษาสามคนที่เป็นเสียงข้างมากในการตัดสินคดีนี้มาจากการแต่ง ตั้งของประธานาธิบดีในสังกัดพรรครีพับลิกันทั้งสิ้น และคดีนี้ก็เป็นคดีที่ฝักฝ่ายการเมืองด้านพรรครีพับลิกันยื่นฟ้องเพื่อทัด ทานอำนาจอันเป็นเอกสิทธิเฉพาะตัวของประธานาธิบดีตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ คือการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางในด้านแรงงานในระหว่างที่วุฒิสภาอยู่ใน ระหว่างปิดสมัยประชุมเป็นเวลานาน
วิธีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างปิดสมัยประชุมนี้ประธานาธิบดีไม่ว่าจะพรรคไหนใช้กันมาเป็นเวลากว่าร้อยห้าสิบปี เพื่อเลี่ยงกระบวนการถ่วงเวลาของวุฒิสภา หรือเพื่อเอาชนะด้วยเล่ห์ในกรณีที่เสียงข้างมากในวุฒิสภาเป็นฝ่ายตรงข้ามที่พยายามค้านการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ในช่วงประธานาธิบดีสามสี่คนที่ผ่านมา ปรากฏว่าฝ่ายรีพับลิกันโดยประธานาธิบดี จ๊อร์จ ดับเบิ้ลยู บุสช์ ใช้การแต่งตั้งเช่นนี้มากที่สุด
ในสมัยแรกของประธานาธิบดีโอบาม่า พรรครีพับลิกันใช้ชั้นเชิงส่งสมาชิกสองสามคนเข้าไปในวุฒิสภา เพื่อเคาะฆ้อนทำเสมือนเปิดสมัยประชุมทุกๆ สามวันในช่วงที่ปิดสมัยประชุมยาว ซึ่งในทางเท็คนิคถือว่าทำให้การปิดสมัยประชุมมีเพียงสั้นๆ ครั้งละสามวัน รัฐบาลโอบาม่าจึงแก้ลำด้วยการออกคำวินิจฉัยว่าการไปเคาะฆ้อนเปิดสมัยประชุมเพียงหนึ่งนาฑีของพรรครีพับลิกันเป็นชั้นเชิงฉ้อฉล จึงได้จัดการใช้เอกสิทธิของประธานาธิบดีทำการแต่งตั้งดังกล่าว
พวกธุรกิจฝ่ายรีพับลิกันที่ไม่พอใจคำสั่งของกรรมการอำนวยการชุดที่ประธานาธิบดีฝ่ายเดโมแครทแต่งตั้งได้ยื่นฟ้องศาล กระทั่งในที่สุดศาลอุทธรณ์ตัดสินออกมาว่าประธานาธิบดีใช้อำนาจผิดรัฐธรรมนูญ แม้รัฐบาลโอบาม่าประกาศว่าจะยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดสหรัฐ และมีสื่อบางฉบับวิจารณ์คำตัดสินของศาลว่าลำเอียง*(5) ก็ไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาคนใดออกมาให้สัมภาษณ์ระรานผู้วิจารณ์เหมือนศาลไทย
น่าจะเป็นเพราะทุกฝ่ายยอมรับกันว่าอำนาจแต่ละแขนงนั้นทักท้วงได้ ตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่ว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการล้วนมีที่มาจากประชาชน ตำแหน่งประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งมาโดยตรงจากประชาชน ส่วนสมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเช่นกัน แม้ในบางท้องที่ หรือมลรัฐอาจมีกระบวนการอ้อมค้อมเล็กน้อย ขณะที่ผู้พิพากษาทั้งหลายในระดับสูงอ้อมมากหน่อย รัฐบาลแต่งตั้งแต่ต้องให้วุฒิสภาเห็นชอบ ส่วนระดับล่างต้องผ่านการอนุมัติจากการออกเสียงของประชาชนทั้งสิ้น
ผู้ ที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาจะไม่พบเลยว่าตุลาการ หรือผู้พิพากษาศาลใดออกมาให้ข้อคิดเห็นตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์คดีที่ตัดสิน ยิ่งการแถลงข่มขู่ หรือก้าวร้าวประดุจดังผู้ทรงอำนาจวิเศษสุด หรือแม้แต่กระแนะกระแหนแบบที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไทยกระทำเกือบจะเป็นนิสสัย*(6) ยิ่งไม่ปรากฏ จะมีก็แต่เพียงการแสดงความเห็น หรือการวิจารณ์ปัญหาบ้านเมืองเป็นการส่วนตัว แล้วสื่อไปแกะเก็บเอามาเสนอสร้างความเร้าใจ (Sensational) กระชากเรตติ้ง
ท่าทีของนายทวีที่ออกมาตามจวกตามจิกนักวิชาการครั้งนี้ นับเป็นการก้าวคืบหน้าอีกขั้นหนึ่งของอุบัติกรรมทางการเมืองไทยที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ หรือ Judicial Activist ในประเทศฝรั่งตะวันตก ที่ข้ามจากแวดวงตุลาการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาสู่สายอาชีพแห่งศาลสถิตยุติธรรม
การแสดงอำนาจบาทใหญ่โดยแอบอิงพระปรมาภิไธยแห่งองค์พระประมุข ไม่เพียงแต่ทำให้ศักดิ์ศรีของผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมล้ำเลิศดังที่มักกล่าวอ้างกันไร้น้ำยาไปแล้วเท่านั้น
ลักษณะตุลาการกร่างเช่นนี้ย่อมทำให้บุญญาบารมีแห่งองค์พระผู้ทรงเป็นบรมโพธิสมภารแห่งตุลาการไทยต้องแปดเปื้อนไปโดยใช่เหตุด้วย
*(1) กรุณาดูคำแปลหนึ่งย่อหน้าของผู้เขียนพร้อมภาพต้นฉบับภาษาอังกฤษในเชิงอรรถท้ายเรื่อง รัก (ความเป็นธรรม) ข้ามขอบฟ้า ร่วม (เร่งเร้า) ปล่อยนักโทษการเมือง และข้อความเต็มจดหมายจากผู้แทนอียูทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่  รวมข่าวและแถลงการณ์จากนานาชาติกรณีศาลไทยสั่งจำคุกสมยศ 11 ปีด้วยกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112" หรือรวมปฏิกิริยาจากองค์การนานาชาติต่อคำพิพากษาสมยศที่ "ท่าทีจากอียู-ฮิวแมนไรท์วอทช์-เอไอ-องค์การแรงงาน ต่อคำพิพากษาสมยศ"
*(2) จากบทความเรื่อง "จดหมายตอบโต้" และ "ตอบจดหมายตอบโต้" ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท
*(5) ตัวอย่างบทความ http://www.nytimes.com/court-rejects-recess-appointments-to-labor-board.
และบทบรรณาธิการ http://www.nytimes.com/a-court-upholds-republican-chicanery.
*(6) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ นปช. ยื่นขอความชัดเจนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องให้ทำประชามติ ก่อนจะทำการแก้รัฐธรรมนูญในตอนหนึ่งว่า ไม่เข้าใจจริงๆ หรือว่าแกล้งไม่เข้าใจ โง่จริงๆ หรือแกล้งโง่ ถ้าแกล้งโง่ ก็ขอให้โง่จริงๆ http://www.matichon.co.th/ใครแกล้งโง่ ใครแกล้งฉลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น