แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

ไม่ใช่เรื่องสี ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ สิ่งที่เราถามหาคือศักดิ์ศรีของวิชาชีพ

ที่มา ประชาไท


หลังศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ลงโทษจำคุก 10 ปี สมยศ พฤกษาเกษมสุข ในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 บทต่างกรรมต่างวาระ และอีก 1 ปีข้อหาหมิ่นประมาท พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร  แวดวงวรรณกรรมและสื่อไทยดูเหมือนจะเงียบกริบ  นอกจากรายงานข่าวสั้นๆ แล้วไม่มีการแสดงออกซึ่งท่าที ความเห็นของคนในวงการ หรือแม้แต่บทวิเคราะห์ใดๆ ต่อกรณีนี้เมื่อเทียบกับที่สื่อนานาชาติแสดงความวิตกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษย ชนในเมืองไทย
ที่น่าเศร้าคือ ไม่มีสมาคมวิชาชีพสื่อไทยออกมาแสดงตัวคัดค้านคำพิพากษาหรือแสดงท่าทีที่จะปก ป้องเสรีภาพของเพื่อนร่วมวิชาชีพอย่างคุณสมยศแม้แต่องค์กรเดียว ทั้งที่ข้อหาที่คุณสมยศได้รับนั้น คนทำสื่อล้วนตระหนักดีว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เป็นได้ว่าพวกเขาไม่นับคุณสมยศเป็นหมู่พวกเดียวกัน เพียงเพราะอยู่ต่างสี เพราะยืนอยู่บนเส้นขนานทางอุดมการณ์  หรือเป็นเพราะไม่อยากแกว่งเท้าออกจากเขตแดนปลอดภัยของตัวเองด้วยเกรงจะโดน หางเลข
เป็นได้ว่าพวกเขาเชื่อว่ามีขบวนการทำหนังสือเป็นปฏิปักษ์กับราชวงศ์จริง และพวกนี้สมควรแล้วที่จะได้รับโทษ  ในขณะที่พวกตนกอบโกยผลประโยชน์อยู่บนสายพานการผลิตซ้ำหนังสือประเภท อาเศียรวาทมามิรู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว
หรืออาจจะเป็นได้ว่า วิชาชีพบรรณาธิการมันก็ตัวใครตัวมันมาแต่ไหนแต่ไร ใครพิมพ์หนังสืออะไรก็รับผิดรับชอบกันไปตามสมควร  อย่าได้ถามหาความรับผิดชอบร่วมทางวิชาชีพอย่างสมาคมนักข่าว สมาคมช่างภาพ หรือสมาคมนักเขียน (ซึ่งอันที่จริงสมาคมเหล่านี้ก็ไม่เคยปกป้องคนในวิชาชีพอย่างแท้จริงนอกจาก ผลประโยชน์ของตัวเอง)
ผู้เขียนจำได้ว่าไม่นานมานี้ บรรณาธิการสำนักพิมพ์และคนในแวดวงวรรณกรรมต่างตบเท้าเข้าร่วมประท้วงการเก็บ ค่าบริการศูนย์กระจายสินค้า (DC Fee) ของซีเอ็ด-อมรินทร์กันอย่างคึกคักจนในที่สุดซีเอ็ด-อมรินทร์ต้องยุติการ เรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว  เมื่อเทียบกับกรณีคุณสมยศซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทคนทำหนังสือโดยตรง ผู้เขียนกลับได้ยินเพียงเสียงของความเงียบอันโหดเหี้ยม  และอย่าได้อ้างข้างๆ คูๆ ว่าสมาคมทั้งหลายมีข้อกำหนดไม่ยุ่งเรื่องการเมือง เพราะที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวในวิชาชีพนี้ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องการเมืองทั้ง สิ้นไม่เว้นแม้แต่การประท้วงซีเอ็ด-อมรินทร์ดังกล่าว
นานมาแล้ว สมัยผู้เขียนเป็นนักศึกษาวารสารฯ  เราเคยพร่ำบ่นกันว่าหากช่วงชิงพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ พื้นที่หน้า cover ในนิตยสาร หรือพื้นที่เล่าข่าวในรายการข่าวได้ ก็มีผลปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวต่อเรื่องนั้นๆ จนอาจก่อความเปลี่ยนแปลงตามมา  เรามีความฝันกันว่าถ้าได้เข้าไปนั่งในองค์กรสื่อจะใช้ปากกาเป็นอาวุธทำให้ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว” กลายเป็นวาระข่าวให้ได้  
ในโลกความจริง ครั้นเราได้เข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน เราเป็นได้แค่นักข่าวไฟแรงในองค์กรสื่อที่กุมบังเหียนโดยบรรณาธิการอาวุโส  เราเป็นได้แค่นักเขียนไฟแรงในนิตยสารที่กุมทิศทางโดยบรรณาธิการอาวุโส  เมื่อไฟเริ่มมอดหลายคนยังมีฝันยิ่งใหญ่ออกไปตั้งสื่อใหม่ของตัวเอง แต่มันก็เป็นได้แค่ “สื่อทางเลือก” ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นได้แค่ทางเลือกจากสื่อกระแสหลัก
เพราะเคยร่วมงานกับสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ผู้เขียนย่อมรู้ดีว่าปัจจุบันสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการถูกเซ็นเซอร์ คือการที่สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนเสมอ (กรณี “เหนือเมฆ” เป็นตัวอย่างชัดเจน) โดยเฉพาะเมื่ออำนาจอยู่ในมือบรรณาธิการอาวุโสผู้ล้วนกังวลต่อประโยชน์และ ความปลอดภัยของหัวหนังสือรวมถึงแคร์สปอนเซอร์มากกว่าการนำเสนอความจริงตาม พันธกิจและอุดมการณ์  แม้แต่พื้นที่ในคอลัมน์แนะนำหนังสือที่ผู้เขียนรับผิดชอบก็ยังถูกร้องขอว่า เป็นไปได้กรุณาหลีกเลี่ยงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับ “การเมืองเรื่องสี”
หนังสือคือบรรณาธิการ ไม่มีใครปฏิเสธคำนี้  เมื่อคุณสมยศในฐานะบรรณาธิการนิตยสารซึ่งเป็นทางเลือกของผู้อ่านกลุ่มหนึ่ง ถูกจองจำกว่าสิบปีอันเนื่องจากบทความในนิตยสารที่เขาไม่ได้มีส่วนรู้เห็น เป็นแต่เพียงเขากล้าเปิดพื้นที่ให้ตีพิมพ์โดยไม่ได้เซ็นเซอร์ข้อความ และโดยที่การกระทำดังกล่าวก็ไม่ผิด พ.ร.บ. การพิมพ์ฉบับปัจจุบันด้วย  เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อจะทำเมินเฉย เพื่อนร่วมวิชาชีพบรรณาธิการจะยังคงซุกตัวอยู่ในเกราะเซฟโซนของตัวเองอย่าง นั้นหรือ   และนี่ก็ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นกับคนในวงการสื่อด้วยซ้ำ ในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท จีรนุช เปรมชัยพร ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท (คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์)   นั่นหมายความว่ามันย่อมมีอะไรผิดปรกติในกระบวนการยุติธรรม มีอะไรบิดเบี้ยวในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งสามารถตีความได้อย่างครอบจักรวาลว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ
เรื่องทั้งหมดนี้จึงไม่เกี่ยวว่าสื่อนั้นอยู่ฝ่ายไหน ยืนอยู่บนอุดมการณ์อะไร หากมันเกี่ยวกับเกียรติยศและศักดิ์ศรีในวิชาชีพสื่อมวลชนต่างหาก  ถ้าสังคมใดปล่อยให้บรรณาธิการ นักเขียนหรือนักแปลที่มีเพียงปากกาและกระดาษเป็นอาวุธ ถูกจำคุกเพียงเพราะพิมพ์บทความที่ถึงที่สุดแล้วไม่ได้มีผลบ่อนทำลายความมั่น คงของราชอาณาจักรแล้วไซร้ สังคมนั้นก็ดูท่าจะพิกลพิการอย่างหาที่สุดมิได้   
สุดท้ายนี้ หากสมาคมนักข่าว สมาคมผู้จัดพิมพ์ สมาคมนิตยสาร สมาคมนักเขียน หรือสมาคมห่าเหวอะไรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและการพิมพ์ (แน่นอนเรายังไม่มีสมาคมบรรณาธิการและสมาคมนักแปล) ยังคงปิดตาข้างเดียวต่อกรณีนี้ ก็บอกได้คำเดียวว่าศักดิ์ศรีในวิชาชีพสื่อมวลชนถูกพวกคุณบดขยี้เองกับมือ (หรืออันที่จริงวิชาชีพนี้ไม่เคยมีศักดิ์ศรีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วก็ตาม)


จากบทความเดิมชื่อ : ไม่ใช่เรื่องสี ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์  สิ่งที่เราถามหาคือศักดิ์ศรีของวิชาชีพบรรณาธิการต่างหาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น