แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ไม่นานเกินรอ แค่ 5 ปีได้ใช้รถไฟความเร็วสูง

ที่มา Voice TV




ประเทศไทยเริ่มศึกษาโครงการรถไฟ ความเร็วสูง มาตั้งแต่ปี 2537 ในสมัยรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาหลายสมัย แต่โครงการนี้ ก็เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีความชัดเจนขึ้น ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า คนไทยจะได้ใช้บริการเป็นครั้งแรก เริ่มที่สถานีกรุงเทพ - อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
 
อีกไม่นานรอ คนไทยจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูง ที่มีความทันสมัยเช่นเดียวกับต่างประเทศ  เพราะในช่วงกลางปีนี้ กระทรวงคมนาคมจะจัดทำผลการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะแรก กรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางแรก กรุงเทพ-เชียงใหม่ และในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมจัดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูง เปิดให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป จีน  และเกาหลีใต้ นำหัวรถจักรและวิวัฒนาการรถไฟความเร็วสูง  จัดแสดงที่ประเทศไทย  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการใช้รถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นใน อีกไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้
 
 
โครงการรถไฟความเร็วสูง ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.  และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงรวมทั้งหมด 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่  เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน และเส้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา หรือส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ กระจายไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ   รวมระยะทางทั้งหมด 2,563 กิโลเมตร ในงบประมาณ 9 แสน 7 หมื่นล้านบาท  ซึ่งเป็นงบประมาณที่รวมอยู่ใน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. ... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท 
 
 
กระทรวงคมนาคมได้ร่างแผนการดำเนินโครงการ ก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไว้เป็นช่วง โดยเริ่มที่เส้นทางแรก คือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 680 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้มีสถานีรถไฟทั้งหมด 12 สถานี เริ่มที่สถานีรถไฟความเร็วสูงบางซื่อ,พระนครศรีอยุธยา,บ้านภาชี, ลพบุรี,นครสวรรค์,พิจิตร,พิษณุโลก,อุตรดิตถ์,เด่นชัย,ลำปาง,ลำพูน และเชียงใหม่
 
 
จากกรุงเทพถึงเชียงใหม่  ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง โดยเส้นทางแรกนี้ ได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น2ช่วง คือ ระยะที่1 จะก่อสร้างโครงการในเส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก   ก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2557    ระยะที่ 2  จากจังหวัดพิษณุโลก - เชียงใหม่ ซึ่งจะทยอยก่อสร้างโดยไม่ให้ระยะเวลาห่างกันเกิน 2 ปี
 
 
เหตุที่ต้องแบ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงใน 1 เส้นทางออกเป็นระยะย่อยๆอีก เนื่องจากแต่ละเส้นทางมีอุปสรรคที่แตกต่างกัน อย่างเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทางตั้งแต่กรุงเทพ จนถึงจังหวัดพิษณุโลก เส้นทางค่อนข้างเป็นเส้นตรง แต่เมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลกจนถึงเชียงใหม่ เส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยว เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับดอยขุนตาล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งจุดนี้ต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ อย่างเข้มข้นมากกว่าเส้นทางอื่น  อาจต้องเจาะอุโมงค์หรือทำทางลอด เพื่อลดความคดเคี้ยวของเส้นทาง เพื่อให้รอบรับรางรถไฟความเร็วสูงที่กำหนดรัศมีวงเลี้ยวตามมาตรฐานสากล ส่วนการวางรางรถไฟความเร็วสูงนั้น กระทรวงคมนาคมจะวางรางรถไฟความเร็วสูงให้คู่ขนานไปกับรางรถไฟระบบเดิม เพื่อลดปัญหาด้านการเวนคืนที่ดิน
 
 
กระทรวงคมนาคมคาดว่า ในเส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก จะประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจะดำเนินการประกวดราคาได้ในช่วงต้นปี 2557 และเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในปลายปี 2557 คาดว่าคนไทยจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ได้ในปี 2561 -2562
 
 
รถไฟความเร็วสูงเดินทางด้วยความเร็ว 200-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยรถไฟ1ขบวน ขนส่งผู้โดยสาร 800 คน เทียบเท่ากับการใช้รถโดยสารประจำทางถึง 20 คัน หรือเทียบเท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 777 จำนวน 2ลำ หรือเครื่องบินแอร์บัส 320 จำนวน4ลำ  คู่แข่งสำคัญของรถไฟความเร็วสูงคือ เครื่องบิน ทั้งสายการบินปกติและโลว์คอสแอร์ไลน์ ดังนั้น ความเร็วในการเดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร และการเดินทางเชื่อมต่อไปยังเขตเมือง  เป็นจุดแข็งของรถไฟความเร็วสูงจะนำมาใช้ช่วงชิงฐานลูกค้าของเครื่องบินได้
 
 
 
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสามารถดำเนินการพร้อมกันได้ทั้ง 4 เส้นทาง โดยเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่  เริ่มที่สถานีกลางบางซื่อ  มายังอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งเส้นทางนี้สามารถก่อสร้างพร้อมกับเส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมาได้ โดยสร้างเพิ่มจากอำเภอภาชีมาออกยังนครราชสีมาได้   ส่วนทางฝั่งตะวันออก  ใช้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายมักกะสัน  อ้อมไปทางอำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังเมืองพัทยา  และไปต่อยังจังหวัดระยองได้  ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน  เริ่มที่สถานีกลางบางซื่อ  ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา  มายังเขตบางกอกน้อย  อ้อมไปฝั่งจังหวัดนครปฐม  ถึงหัวหิน  และยังเชื่อมต่อไปถึงเมืองปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาได้    
 
 
ส่วนการคัดเลือกรถไฟความเร็วสูงจะใช้ระบบ International Bidding เปิดให้ต่างประเทศเสนอเงื่อนไขการลงทุนเข้ามาแข่งขันเสนอราคาได้ โดยรัฐบาลไทยจะคัดเลือกภายใต้พื้นฐานของคุณภาพที่ดีที่สุด ในราคาที่เหมาะสม  ส่วนหน่วยงานที่ดูแลการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยตรง เบื้องต้นขึ้นตรงกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือ สนข. และในระยะต่อไปกระทรวงคมนาคมอาจตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา แต่ใช้บุคลากรเดิมในสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแล 
 
 
พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม คาดว่า รัฐบาลจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 ส่วนราคาค่าโดยสารเบื้องต้นประเมินว่า ในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ จะอยู่ที่ราคาประมาณ 2,000 บาท หรือหากคำนวนเป็นกิโลเมตร จะอยู่ที่กิโลเมตรละ 2 บาท 10 สตางค์ถึง 2 บาท 70 สตางค์   รวมเวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 
 
 
รถไฟความเร็วสูงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะ5ปีนับจากนี้  คนไทยจะได้ใช้บริการรถไฟความเร็งสูงในเส้นทางระยะสั้น นั่นคือ กรุงเทพ- ภาชี  นอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบาย ความรวดเร็วให้กับผู้ใช้บริการแล้ว  ยังช่วยกระตุ้นการลงทุนจากการก่อสร้างโครงการนี้ได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.5  ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในหลายด้าน และช่วยเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นประเทศเนื้อหอมในสายตานักลงทุนรายใหม่ เพิ่มขึ้น
26 มกราคม 2556 เวลา 18:37 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น