แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ASEAN Weekly: เปิดมิติเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่พม่า

ที่มา ประชาไท


ASEAN Weekly ตอนพิเศษ จากวงเสวนา "เปิดมิติเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่พม่า: ที่มา ที่ไป และที่เป็น" ซึ่งจัดที่ห้องระชุมจุมภฏ-พันทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดยการเสวนาดังกล่าวเพื่อเป็นการแนะนำหนังสือ “เนปิดอว์: ปราการเหล็กแห่งกองทัพพม่า (Naypyidaw: The Iron Fortification of Myanmar Armed Forces (Tatmadaw)” ผลงานโดยดุลยภาค ปรีชารัชช ซึ่งปรับปรุงจากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เรื่อง “เนปิดอว์: ราชธานีใหม่กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”
อนึ่งอาจารย์พรพิมล ตรีโชติ นักวิจัยเชี่ยวชาญเรื่องพม่า ประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ผู้ล่วงลับได้เขียนบทนำให้กับหนังสือเล่มนี้ด้วย ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ประเด็นที่น่าทึ่งสำหรับงานชิ้นนี้อยู่ที่การอธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ บทบาทความสำคัญของเมืองหลวงใหม่ "เนปิดอว์"  อันสัมพันธ์กับนโยบายความมั่นคงของกองทัพพม่าได้อย่างละเอียด จนทำให้เข้าใจระบบคิดของกองทัพพม่าเกี่ยวกับการป้องกันประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ข่าวลือที่ว่าพม่าย้ายเมืองหลวงเพราะเชื่อหมอดู กลายเป็นข่าวลือที่ไม่น่าใส่ใจนักเมื่อเทียบกับการวิเคราะห์ของอาจารย์ดุลย ภาค ว่าเนปิดอว์มีความเหมาะสมทางด้านภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์อย่างไรสำหรับกอง ทัพพม่า นอกจากนี้ ผู้อ่านยังจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับโครงข่ายเมืองใต้ดินและการวางขุมกำลังใต้ ดินเพื่อการป้องกันประเทศ ตลอดจนการวางระบบเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อการข่าวทางทหาร ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลายคนยังคงคิดไม่ถึงว่าพม่าจะไปได้ไกลถึง เพียงนี้...”
โดยก่อนหน้านี้ ประชาไทได้นำเสนอ การอภิปรายโดยวิทยากรจากการเสวนาดังกล่าวได้แก่ ปาฐกถานำ เรื่อง "เมืองหลวงใหม่พม่าในมิติความมั่นคง" โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม และ "การย้ายราชธานีของพม่าก่อนยุคเนปิดอว์" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยตอนนี้เป็นการนำเสนอ การอภิปรายหัวข้อ "จากกลุ่มอำนาจเนปิดอว์ถึงประชาคมอาเซียน" โดยเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ คอลัมนิสต์และสื่อมวลชนอิสระ ผู้เขียน "พม่าผ่าเมือง" และการอภิปราย "เนปิดอว์ในบริบทยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่า" โดยดุลยภาค ปรีชารัชช คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์: จากกลุ่มอำนาจเนปิดอว์ถึงประชาคมอาเซียน

ในพม่ามีคำกล่าวคำหนึ่งพูดมาแต่โบราณว่า "เสือย้ายป่า" คือลักษณะของเสือที่เริ่มมองหาที่ตาย ผมได้เขียนวิเคราะห์การย้ายจากย่างกุ้งไปในเนปิดอว์ ในบทความชิ้นหนึ่งชื่อว่า "เสือย้ายป่า พม่าย้ายเมือง" รายละเอียดของการย้ายเมืองท่านทั้งหลายคงทราบมาแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้มีสัญญาณมาให้เห็นมาตั้งแต่ปี 1989 จากการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง ถนนหนทาง เพื่อให้หลีกพ้นจากอำนาจเจ้าอาณานิคมอังกฤษเดิม ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงต่อมา
ส่วนปัจจัยการย้ายเมืองหลวงของพม่า ประกอบด้วย ปัจจัยหนึ่ง เป็นเรื่องทางยุทธศาสตร์ เพราะตรงจุดกลางของเนปิดอว์ อยู่ระหว่างกลางของย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ปัจจัยที่สอง ที่ทำให้การย้ายเมืองหลวงมีความจำเป็นก็คือแรงกดดันจากนานาชาติ ระหว่างนั้นจะเห็นว่าการต่อสงครามแบบเอกภาคีที่สหรัฐอเมริกาทำในอิรักและ หลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งซึ่งทำให้เกิดความกลัวว่า ลักษณะอันเดียวกันนั้นจะทำล่วงเลยมาถึงพม่า และปัจจัยที่สาม เป็นเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งหนีไม่พ้นกับการเมืองของพม่ามาโดยตลอด เห็นได้ชัดช่วงปี 1988 แนวคิดไสยศาสตร์มีส่วนเข้ามากำหนดทิศทางการเมืองพม่า ความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงในย่างกุ้ง ทำให้กลุ่มอำนาจในย่างกุ้ง ทาสีบ้านทุกบ้านในย่างกุ้งเป็นสีขาว เพื่อลบล้างความมืดดำ เป็นเหตุผลทาไสยศาสตร์
มีเหตุผลด้านไสยศาสตร์มาปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างเช่นกรณีการสร้าง เขื่อนของจีน ที่รัฐคะฉิ่นที่เมืองผาหม่อ  รัฐคะฉิ่น แล้วหยุดชะงัก เป็นเรื่องไสยศาสตร์ หาใช่มาจากคำอธิบายเรื่องการคัดง้างผลประโยชน์ของจีน เพราะปรากฏว่าเมื่อสร้างแล้ว เจองูตัวใหญ่มากเลย เป็นงูเจ้าที่ไม่ยอมให้สร้างเขื่อนนี้ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของพม่าคือจะก่อสร้างไม่ได้ ส่วนคนงานก็เอางูกลับประเทศจีน โดยท่านทั้งหลายอาจไม่รู้ว่าตานฉ่วยและเต็ง เส่ง เกิดวันเดียวกัน และแห่ไปไหว้พระที่พุทธคยาหลังเจองูดังกล่าว
สิ่งที่เป็นสัญญาณที่ก่อตัวมาแต่ปี 1989 ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ มีการสร้างกฎหมายเพื่อยกเลิกระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม และสิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ นี่เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากนักว่ากลุ่มอำนาจเนปิดอว์เกิดได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเราเห็นพม่าในรูปแบบเผด็จการทหารมาแต่ต้น ทั้งนี้หลังจากรับอิสรภาพจากอังกฤษวันที่ 4 มกราคม 1948 เป็นประชาธิปไตยภายใต้การนำของอูนุเพียง 14 ปี และเหตุการณ์ทางการเมืองที่สุดแล้วนำมาซึ่งการปฏิวัติเนวินวันที่ 2 มีนาคม 1962 เปลี่ยนถ่ายอำนาจผ่านช่วงรุ่นต่างๆ ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร มาสู่ซอ หม่อง และตาน ฉ่วย วันที่ 2 เมษายน 1992 นี่คือการก่อตัวของกลุ่มอำนาจเนปิดอว์
จากนั้นแล้วเราจะเห็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน หลังตาน ฉ่วย เข้ามามีอำนาจ และขจัดกลุ่มอำนาจของขิ่น ยุ้นต์ ในปี 2004 สิ่งที่ผมมองการย้ายเมืองจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ คือการ Consolidate (รวบ) กลุ่มอำนาจและฐานอำนาจของตาน ฉ่วย ให้เข้มแข็งมั่นคงขึ้น
ปัจจัยทางยุทธศาสตร์ แรงกดดันของนานาชาติ และปัจจัยทางไสยศาสตร์ มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ แต่ว่าการสร้างเมืองเนปิดอว์มีผลกระทบอยู่ไม่น้อยกับบางประเทศที่ให้การค้ำ จุนกลุ่มอำนาจตานฉ่วยที่เนปิดอว์ เพราะเมื่อย้ายเมืองในปี 2005 กรุงย่างกุ้งและกลุ่มอำนาจเนปิดอว์ไม่ได้บอกต่างประเทศให้รู้เรื่องเหล่านี้ เลย พอสร้างเสร็จแล้วก็ประกาศให้เขาย้ายตาม ทำให้จีนไม่พอใจ ในทัศนะของจีนมองด้วยว่าเนปิดอว์ ไม่ได้รับความชอบธรรมอย่างมากมาย ทั้งนี้พม่าจะต้องพึ่งพาจีนอยู่มากในด้านต่างประเทศ เพราะจีนมีสิทธิวีโต้ในสมัชชาความมั่นคงสหประชาชาติ
สิ่งที่ทำให้เห็นถึงการรวบรวมอำนาจของเนปิดอว์มาได้แก่ หนึ่ง การร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จปี 2008 จัดการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2010 และปล่อยออง ซาน ซูจีในสัปดาห์ต่อมา
การเลือกตั้งทั่วไปของพม่าจะแสดงทิศทางใหม่ที่จะเกิดหลังจากนั้น และเราเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งและดำเนินการตามโรดแมปขั้นตอนต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่จะขจัดการถูกโดดเดี่ยวและเข้ามาสู่ส่วนหนึ่งของชุมชนโลก ส่วนหนึ่งก็คือการเข้ามาเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนในปี 1997 สองเพื่อลดแรงกดดันจากนานาชาติ การจัดการเลือกตั้ง และปล่อยซูจี เป็นเป้าหมายนี้มากกว่า ที่เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วมีการเลือกตั้ง คือการมองว่าประชาธิปไตยพม่าจะพัฒนาได้อย่างไร ส่วนการที่ออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 1 เม.ย. ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าอย่างน้อยมีจุดเล็กๆ ที่จะเกิดจากการเปลี่ยนถ่าย หรือพัฒนาประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น แต่นักวิเคราะห์มองว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก กับผู้ได้รับเลือกตั้งเพียง 48 ที่นั่งทำอะไรไม่ได้ ยิ่งดูข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญพม่า และเห็นในรัฐธรรมนูญที่พม่าร่างขึ้นทั้งปี 1947 ปี 1974 และปี 1989 ทำให้เห็นว่า ความคาดหวังที่ออง ซาน ซูจีจะเข้าไปพัฒนาหรือแก้ไขระบบการเมืองให้พ้นจากระบอบเผด็จการทหารที่ครอบ งำอยู่ ซึ่งข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญคงคาดหวังได้ยาก คงต้องรอไปถึงสมัยหน้าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ คาดหวังว่าพรรคของออง ซาน ซูจี เข้ามาเป็นเสียงข้างมาก จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กว่าที่จะเกิดเลือกตั้งครั้งใหม่ การแข่งขันเพื่อแย่งชิงมวลชนในพม่าจะเกิดอย่างเข้มข้น
การเดินทางของออง ซาน ซูจีมาไทย บอกสิ่งเหล่านี้ชัดว่าไม่ได้เดินทางผ่านกระทรวงการต่างประเทศไทย ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่สถานทูตพม่าต้อนรับขับสู้ สิ่งที่ออง ซาน ซูจีทำก็คือเข้ามาเจอมวลชนในไทย ผลของการมาประชุม World Economic Forum ที่ไทย ทำให้เห็นความแตกแยกในทัศนะเรื่องการพัฒนาระหว่างออง ซาน ซูจีกับกลุ่มอำนาจเนปิดอว์ เราจะสังเกตสุนทรพจน์ที่เธอพูดในการประชุม ที่พูดเรื่องชะลอการยับยั้งชั่งใจในการลงทุนใหม่ในพม่า เพราะเหตุว่าทั้งหมดล่วงรู้ว่าการเข้าไปลงทุนในพม่าว่าเบี้ยบ้ายรายทางที่ เกิดขึ้นกับการลงทุนจะเกิดกับอำนาจเนปิดอว์ที่ครอบงำรัฐบาลในร่างพลเรือน และจะไม่มีประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเท่าไหร่นัก และการเยือนของออง ซาน ซูจี สร้างความขุ่นเคืองทำให้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เลื่อนการเดินทางมาเยือนไทยทั้งที่มีข้อตกลง 7 เรื่องที่ต้องทำต่อกัน รวมทั้งโครงการท่าเรือทวายสู่เส้นทางหลักใหญ่ของไทย และไปสู่ท่าเรือการค้าส่งออกทั้งอาเซียนและส่งออกนอกประเทศ
เพราะฉะนั้นการหันมาเล่นการเมืองแบบมวลชนก่อนเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างเข้ม ข้นมากขึ้น ทั้งนี้การที่กลุ่มอำนาจเนปิดอว์สามารถรวบอำนาจ และครอบงำเงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญได้นั้น ทำให้เกิดความมั่นใจจนถึงกับเปิดประเทศ และปิดตัวเองจากสังคมโลกไม่ได้ และกระแสเศรษฐกิจของพม่าก็ไม่ได้อยู่ในกระแสเศรษฐกิจของโลก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลที่ทำให้เห็นว่าถึงเวลาต้องเปิดประเทศและเอาออง ซาน ซูจีมาเชื่อมกับสิ่งเหล่านี้
ซึ่งความพยายามเหล่านี้มีมาแต่แรก เช่น เข้าไปเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งทำให้พม่า ต้องผูกพันกับจรรยาบรรณภูมิภาคในเรื่องต่างๆ ทีเกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องบูรณภาพดินแดน เรื่องการแก้ขัดแย้งโดยสันติวิธี พม่าย่อมมองเห็นประโยชน์ในการเปิดประเทศ ในระยะต่อไปซึ่งจะต้องเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน พม่าน่าจะคิดถึงยุทธศาสตร์เตรียมตัวเข้าสู่ AEC เพราะพม่าในทางยุทธศาสตร์อยู่ระหว่างกลางเชื่อมจีน อินเดีย พม่าจะเป็นตัวแข่งสำคัญของไทยบริเวณอาเซียนตอนบน ในระยะต่อไปในแง่การสร้างศูนย์ Logistic หลังการเป็นประชาคมอาเซียน โดยอาเซียนตอนบนในระยะต่อไปจะเริ่มพัฒนาหลังพม่าเปิดประเทศ อาเซียนมีตัวเชื่อมสำคัญที่จะได้จากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอา เซียน ไม่เพียงแต่การขยายตัวและนโยบายการพัฒนาคุนหมิงของจีน ถนนที่เชื่อมจีนจากคุนหมิง มาจ่อที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และจะเชื่อมไปที่สิงคโปร์กับมาเลเซียแล้ว ซึ่งพม่าได้ประโยชน์จากตรงนี้ และพม่ามองเห็นความสำคัญของการเปิดประเทศ เปิดตัว และเข้าร่วมอยู่ในประชาคมอาเซียน อย่างโครงการทวายก็เกิดแล้ว
นอกจากนี้ในอนาคตเราจะเห็นโครงการพัฒนาบนลุ่มแม่น้ำโขง และแม่น้ำคงคาซึ่งพม่าเป็นตัวเชื่อมสำคัญในทางยุทธภูมิศาสตร์ และพม่าจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือบนรูปแบบต่างๆ ของภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนอ่าวเบงกอล



ดุลยภาค ปรีชารัชช: เนปิดอว์ในบริบทยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่า

มีความสนใจเรื่องเนปิดอว์และยุทธศาสตร์การทหารของพม่า สมัยที่เป็นนิสิตปริญญาโท สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยช่วงเวลานั้นมีข่าวย้ายเมืองหลวงพม่าใหม่ๆ ในปลายปี 2005 รู้สึกฉงนใจที่แหล่งข่าวในเมืองไทยและในสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยให้อรรถาธิบาย มากนัก เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเมืองหลวงใหม่ แม้กระทั่งสมมติฐานที่มีระบบความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงของ รัฐบาลพม่า แรงบันดาลใจขั้นต้นทำให้ผมได้บุกเบิกงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ซึ่งโชคดีที่มีอาจารย์สุเนตร ชุตินทรานนท์ และพรพิมล ตรีโชติเป็นที่ปรึกษา
แนวการศึกษาจะไม่ได้เน้นยุทธศาสตร์ทหารโดยรวม เพราะอาจจะยากเกินไปและมีข้อจำกัดด้านเวลา แต่ศึกษาเชิงสหวิทยาการ ดูเหตุปัจจัยแห่งการย้ายเมืองหลวงหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง การทหาร การพัฒนาประเทศ หรือแม้กระทั่งโหราศาสตร์บางมิติ เลยออกมาเป็นหนังสือในปี 2009 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus เกี่ยวกับเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า เมื่อเป็นอาจารย์ของธรรมศาสตร์ก็ขอทุน สกว. ทำเรื่องเนปิดอว์ โดยเน้นเฉพาะยุทธศาสตร์การเมืองและการทหารของกองทัพพม่า มาบัดนี้งานชิ้นนี้ก็เสร็จเรียบร้อย ได้รับการตีพิมพ์โดยความกรุณาของอาจารย์สุเนตร ออกมาเป็นหนังสือ เนปิดอว์: ปราการเหล็กแห่งกองทัพพม่า
ในความเป็นจริงแล้วค่อนข้างสวนกระแส กับความรู้ความเข้าใจที่เรามีต่อกระแสพม่าฟีเวอร์ เพราะว่าตอนนี้สื่อมวลชนต่างพุ่งไปที่เศรษฐกิจการค้า การลงทุนพม่า วัฒนธรรมพม่า การยกระดับพม่าเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสากล พม่ากับสหประชาชาติ ภาพลักษณ์พม่าดูดีหมด แต่ขณะที่กระแสพม่าในเทรนด์นี้มาแรง แต่เรื่องความมั่นคงถูกตีตกไป รวมถึงสิ่งที่รัฐมนตรีกลาโหมพม่าได้พูดว่ากองทัพพม่าลดระดับความสัมพันธ์กับ เกาหลีเหนือเรียบร้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเด็นเรื่องความมั่นคง ที่นักการทหารควรจะรู้ถูกซุกอยู่ใต้พรม และตีตกกระแสไป แต่ความเป็นจริงนั้นประเด็นนี้มีความหมาย มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศพม่า โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลทหารชุด SLORC (สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) และ SPDC (สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) หลัง 1988 เป็นต้นมา เพียงแต่ภาพมายาที่เราเห็นคือมาวันนี้เนปิดอว์เปิดตัวสู่โลกภายนอก ทุกคนอยากไปเที่ยวเนปิดอว์ แต่โซนความมั่นคง โซนกองทัพที่กันส่วนไว้ด้านเทือกเขาฉานจะมีสักกี่คนที่ได้ยล กองทัพภาคเนปิดอว์จะมีสักกี่คนที่ได้เห็น ซึ่งนี่เป็นตัวตนของเนปิดอว์ปราการเหล็กแห่งกองทัพพม่า
การทำความเข้าใจเหตุปัจจัยการย้ายเมืองหลวง ต้องเข้าใจเหตุกดทับภายใน และแรงกดดันจากภายนอก โดยใช้จุดตัดในช่วงปี 1988 ซึ่งมีการลุกฮือ 8888 ช่วงเวลานั้นมีความหมายต่อโลกทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่าอย่างสูง สืบเนื่องจากว่าช่วงปี 1988 ผังเมืองของกรุงย่างกุ้งเริ่มทำพิษในการจัดการม็อบ หรือการบริการความขัดแย้ง ฝูงชนจำนวนมากตะลุมบอนเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการ และมีฐานซ่องสุมกำลังอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการจารกรรมข้อมูล ช่วงเวลานั้นกองทัพตกอยู่ในสภาวะคับขันทางยุทธศาสตร์ แม้กระทั่ง บก.กลาโหมที่ย่างกุ้งก็ถูกปิดล้อมเป็นปฐมบทแห่งความน่ากลัวของเหตุการณ์ 8888
สัมพันธ์กับช่วงเวลาเดียวกันนายพลซอว์ หม่อง กล่าวถึงการปรากฏตัวของเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาพร้อมเรือรบอีก 4 ลำในเขตอ่าวเมาะตะมะ นับจากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมาดูเหมือนภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกเป็นตัว แปรสำคัญที่ทำให้รัฐบาลพม่าจัดวางหรือสร้างผลิตผลทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่ไม่พึงปรารถนาเป็นห้วงๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับภูมิทัศน์ผังเมืองของกรุงย่างกุ้งใหม่ มีการย้ายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเข้าไปอยู่ชานเมืองเพื่อตัดขาด กิจกรรมระหว่างนักศึกษาและประชาชน มีการสร้างสะพานลอยหลายแห่งหลังจากนั้นไม่นานมีการลุกฮือของกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยเป็นระลอก แต่ฝูงชนก็ต้องตกใจเมื่อเห็นทหารพม่ายืนอยู่บนสะพานลอยและเล็งปืนเข้าใส่ฝูง ชน นี่คือผลิตผลของปราการเหล็กที่ปรับไว้ที่ย่างกุ้ง
ขณะเดียวกันกองทัพพม่าก็ปรับหลักนิยมและยุทธศาสตร์หลายประการ มีทั้งการให้ความสำคัญกับ Conventional warfare หรือสงครามตามแบบ และ Asymmetric warfare หรือสงครามอสมมาตร มีการกำหนดหลักนิยมเน้นป้องกันประเทศ ใช้กองทัพบก เรือ อากาศ ระดมสรรพกำลังขับไล่ข้าศึก แต่ก็มีการให้ความสำคัญกับสงครามจรยุทธ์ในการตีขับหน่วงข้าศึกจนข้าศึกย่น ระย่อและถอยออกไป ให้ความสำคัญกับการป้องกันแนวลึกเพื่อรับมือกับข้าศึก โดยเฉพาะหากมีการรุกทางทะเล
ขณะเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1990 ลงมามีปัญหาในการสร้างรัฐ สร้างชาติ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายแดนซึ่งเต็มไปด้วยฐาน ที่มั่นของกองกำลังชนกลุ่มน้อย แน่นขนัด อุ่นหนาฝาคั่ง และทำให้อำนาจในส่วนกลางที่ย่างกุ้งโบกสะบัดไปไม่ถึง ด้วยเงื่อนไขแรงกดจากภายใน และแรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์จากภายนอกนี้เองเป็นผลิตผลอย่างหนึ่งให้พม่าหรือ กองทัพพม่าปรับเปลี่ยนและสร้างนวัตกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์
หนึ่งในนั้นคือการเบิกหาศูนย์อำนาจแห่งใหม่ที่กรุงเนปิดอว์ เหตุผลการย้ายเมืองหลวงไปเนปิดอว์หากมองในเชิงของนักการทหารเราจะพบได้เลย ว่ากรุงย่างกุ้ง สภาพผังเมืองมีความสุ่มเสี่ยงแม้รัฐบาลพม่าจะจัดระเบียบหลายระลอก แต่จะเห็นว่ามรดกจากเหตุการณ์ 8888 ยังคงดำรงอยู่ในกลุ่มทหาร การเกิดการปรากฏตัวของสถานทูตหลายแห่ง การตั้งสถานีข่าวกรองทางการสื่อสารในสถานทูตตะวันตกบางแห่ง และสถานทูตเหล่านี้เชื่อมต่อกับนักข่าวต่างประเทศทำให้การจัดเก็บข้อมูลรั่ว ไหลออกสู่ภายนอก และประชาชนหรือฝูงชนมักตั้งถิ่นฐานสะเปะสะปะกับสถานที่ราชการ การพบปะระหว่างราชการกับประชาชนนั้นถือว่ามีความหลากหลวมไม่รัดกุมแน่นหนา เท่าไหร่นัก นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งในการเปิดพื้นที่ใหม่ วางเลย์เอาท์ผังเมืองใหม่ วางระบบความมั่นคงเข้าไปใหม่ รวมถึงการใส่ประชากรเช่น ข้าราชการ พลเรือน ประชากร และกองทัพ ที่แยกส่วนพอสมควร เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมหรือสั่งการ นี่กระมังเป็นการเกิดขึ้นของกรุงเนปิดอว์ขึ้นมา
ระยะแรกการย้ายเมืองหลวงผ่านไปอย่างเงียบเชียบ ทูตตะวันตกก็แทบจะไม่ค่อยรู้ถึงการย้ายเมืองอย่างจริงจัง จนกระทั่งเวลาผ่านมาแล้ว นี่ก็ประมาณเกือบ 7 ปี เนปิดอว์ถึงค่อยเปิดสู่โลกภายนอก เพราะฉะนั้นลับลวงพราง 7 ปีย้อนหลัง สะท้อนยุทธศาสตร์ของพม่าได้พอสมควรทีเดียว
ในเรื่องของการป้องกันการลุกฮือ เราได้เห็นผังเมืองของเนปิดอว์ ที่ถูกเนรมิตอย่างวิจิตรพิสดาร มีการสร้างโซนอพาร์ทเมนท์เพื่อให้ข้าราชการอยู่อาศัยและง่ายต่อการควบคุมและ สั่งการ ตอนนี้ทุกคนเริ่มไปเที่ยวเนปิดอว์ได้ แต่ส่วนกองทัพหรือ บก.กระทรวงกลาโหมแยกไปในโซนตะวันออกของเนปิดอว์ มีการ สร้างคลังสรรพาวุธเก็บในภูเขา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นการแบ่งโซนของกรุงเนปิดอว์ชัดเจนว่าส่วนที่เป็นศูนย์ ราชการคล้ายเมืองปุตราจายาจะอยู่ทิศตะวันตก ส่วนเขตเมืองเก่าที่พลเมืองเป็นเกษตรกรจะอยู่ที่เมืองเปียงมะนา ส่วนโซนทหารอยู่ติดทะเลสาบเขื่อนเยซิน
เราจะเห็นการสร้างถนนขนาด 8 ถึง 20 เลน ซึ่งมีคุณค่าทางยุทธศาสตร์ นักสถาปนิกชาวอินเดียที่เดินทางไปเยือนเนปิดอว์ได้กล่าวชื่นชอบในการวางถนน แม้เมืองนี้จะมีลักษณะเป็นผีหลอกไม่ค่อยมีประชากรแน่นขนัด เหมือนกรุงย่างกุ้ง หรือการาจีที่ปากีสถานก่อนย้ายไปยังอิสลามาบัด แต่การแบ่งถนนมากมายขนาดนี้ การประท้วงหรือลุกฮือที่เนปิดอว์คงสร้างความเหนื่อยยากให้ฝูงชนอย่างยิ่งยวด ประชาชนไม่สามารถปิดล้อมถนนได้อย่างที่ทำได้ที่ย่างกุ้ง แต่ประชาชนจะถูกล้อมกรอบด้วยกองพลรถถังที่มีอัตราเคลื่อนที่เร็ว เหตุการณ์นี้เห็นได้ชัดในปี 2007 ฝูงชนประท้วงที่ย่างกุ้ง แต่รัฐบาลพม่าไม่ล้ม พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย นอนสบายอยู่ที่กรุงเนปิดอว์ปลอดภัยจากฝูงชนที่เป็นคู่ปรปักษ์ทางการเมือง
ในเชิงยุทธศาสตร์ทางการทหาร ควรเข้าใจแรงกดทับจากภายนอก ในช่วงทศวรรษ 1990 พม่าดำรงสภาพเป็นระบอบเผด็จทหาร ช่วงนั้นมีเสียงกดดันจากการรุกรานจากต่างประเทศพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองซาอุดิอาระเบียเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งกำลังล้ม ระบอบทหารพม่า เพราะโรฮิงยาถูกขับจากรัฐอาระกัน ด้านประธานาธิบดีจอร์จ บุช ของสหรัฐอเมริกาบอกว่าพม่าเป็นรัฐนอกคอก มีพฤติกรรมที่คุกคามพม่าผ่านสถานการณ์ในอิรักและอัฟกานิสถาน ตรงนี้สัมพันธ์กับหลักนิยมทางทหารของกองทัพพม่าที่ให้ความสำคัญกับการตั้ง รับในแนวลึก คือการย้ายฐานบัญชาการทางทหารบริเวณเขตชายฝั่ง กลับเข้าไปสู่พื้นที่ตอนในโอบล้อมด้วยขุนเขาและแนวป่า เหมือนสมัยสงครามเวียดนามที่มีการใช้อุโมงค์กู๋จีรบกับสหรัฐอเมริกา ใช้เป็นตัวตั้งมั่นแล้วเปิดโหมดสงครามจรยุทธ์ เราจะเห็นได้ชัด ภาพถ่ายดาวเทียมกรุงเนปิดอว์ยิ่งใหญ่อลังการมาก ผมคิดว่าบางทีอาจจะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากภายนอกได้ง่าย แต่สำหรับ โซนทหารกลับมีการถอนกอง  บก. และสิ่งก่อสร้างทางการทหารเข้า ไปในเขตเทือกเขาฉาน เจาะถ้ำ ชั้นผาแล้วใส่คลังสรรพาวุธ และสิ่งก่อสร้างทางทหารเข้าไป แสดงให้เห็นหลักนิยมทางการทหารที่กองทัพพม่าให้ความสำคัญกับสงครามจรยุทธ์พอ สมควร
หากพม่ารุกทางทะเล การรุกนั้นแม้ช่วงเวลาก่อนปี 2005 สหรัฐอเมริกาจะเน้นหนักในสมรภูมิอิรักและอัฟกานิสถาน แต่ความพึงระวังทางยุทธศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่เสนาธิการทหารพม่าคิดไว้ ทำเลของมันพิสูจน์ได้พอสมควร หามีการยกพลขึ้นบกจากรัฐอาระกัน ต้องเดินทัพผ่านเมืองอาร์ม ซึ่งพม่าย้ายกอง บก. ทางทหารจากซิตตะเหว่ เข้าไปในเมืองอาร์ม ไกลจากชายฝั่ง แม้กระทั่งหากข้าศึกพิชิตเมืองนี้ได้ ก็ต้องข้ามเทือกเขาอาระกัน แม่น้ำอิระวดี และเจอแนวเทือกเขาพะโคอีก ก่อนจะเหยียบเนปิดอว์ได้ หากรุกมาทางใต้แป๊บเดียวก็ยึดย่างกุ้งได้ แต่การแสดงชัยชนะขั้นเด็ดขาดคือส่งกองทหารราบเข้าเมืองหลวง คือกองกำลังพิเศษต้องเดินทัพผ่านเขตลุ่มน้ำสะโตง และเสี่ยงต่อการถูกซุ่มตีจากเทือกเขาพะโค และเทือกเขาฉาน ตั้งแต่เมืองตองอู ไล่ขึ้นไปยังกรุงเนปิดอว์ นี่เป็นเหตุผลทางยุทธศาสตร์ที่มีความหมาย แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพม่าตั้งเมืองหลวงลึกเข้าไปอีกเช่นเหนือมัณฑะเลย์ ขึ้นไปหากกลัวภัยคุกคามทางทะเล แต่ผมคิดว่ายิ่งสมัยปัจจุบันภัยคุกคามน่าจะย้ายมาสู่ชายแดนด้านตะวันออกเช่น  จีน เพราะฉะนั้นการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ตรงกลาง จะมีคุณค่าหลายประการโดยเฉพาะการใช้โลจิสติกตอนกลางโบกสะบัดอำนาจเข้าสู่ ตอนกลางประเทศ
ตอนแรกนั้นพม่าสนใจตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ตองอู แต่ที่ราบตองอูแคบเกินไปเมื่อเทียบกับเปียงมะนา ฉะนั้นเมืองเปียงมะนาสร้างได้หลายฟังก์ชั่น ทั้งสร้างเมืองขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศ หรืออย่างที่อาจารย์สุเนตร (ชุตินธรานนท์) บอกคือให้ภายนอกได้ประจักษ์ถึงความงดงามและยิ่งใหญ่ พื้นที่การสร้างเมือง 7,000 ตารางกิโลเมตร เขตหุบเขาสะโตงตอนบนของเปียงมะนารับไหว
สุดท้าย เรื่องคุณค่าในทางยุทธศาสตร์ทางการทหาร การเติบโตของเนปิดอว์กระทบเป็นผลลูกโซ่กับเมืองยุทธศาสตร์รายรอบพม่า ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกับเนปิดอว์ด้วย หากวาดแผนที่พม่าจะพบว่าตำแหน่งศูนย์กลางอยู่ที่เนปิดอว์ ซึ่งมีคุณค่าในการพัฒนา Logistic สมัยก่อนการไปรัฐอาระกันต้องนั่งเรือไป มาวันนี้มีถนนจากเนปิดอว์ตัดเข้าไปในอาระกัน เข้าไปที่เมืองซิตตะเหว่ด้วย
นอกจากนี้การทำความเข้าใจเนปิดอว์ ต้องทำความเข้ใจเมืองยุทธศาสตร์หรือเมืองบริวารรายรอบว่าเอื้อต่อการสร้าง ปราการเหล็กให้กับเนปิดอว์แค่ไหน เช่น ย่างกุ้ง ตองอู ตองจี มิตถิลา มัณฑะเลย์ เมเมียวหรือปยิน อู ลวิ่น
ย่างกุ้งปัจจุบันเป็นเมืองทางเศรษฐกิจ เมืองท่าสำคัญ การย้ายเมืองหลวงไปเนปิดอว์ ไม่ได้หมายความว่า ย่างกุ้งจะถูกละทิ้งคุณค่าทางยุทธศาสตร์ ในทางตรงกันข้ามกองทัพเรือพม่ามีการสร้างฐานที่มั่นมากขึ้นเข้มแข็งกว่าเดิม ที่ย่างกุ้ง ขึ้นไปอีก 70 ไมล์จะพบกับเมืองตองอู เป็นเมืองยุทธศาสตร์แห่งสงครามกองโจร เป็นเมืองที่กองทัพพม่าใช้เป็นฐานเข้าไปรบในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยาห์ไม่ไกล จากขุนยวม แม่ฮ่องสอน เป็นเมืองในเขตลุ่มน้ำสะโตง เป็นด่านหน้าก่อนถึงเนปิดอว์
ถัดจากเนปิดอว์ขึ้นไป รัฐบาลพม่าสร้างทางหลวงสายพิเศษคือปินโหลง-ตองจี ผ่านเมืองยุทธศาสตร์คือเมืองกะลอ อองปันในเขตที่ราบสูงฉาน และเข้าไปบรรจบกับตองจี ตองจีคือเมืองหลวงในรัฐฉาน เป็นฐานที่มั่นกองทัพภาพตะวันออกของพม่าใช้ระดมกำลังเพื่อรบกับชนกลุ่มน้อย ในเขตที่ราบสูงฉาน มาวันนี้รัฐบาลพม่าสร้างทางหลวงพิเศษตัดตรงจากเนปิดอว์เข้าตองจี
ขึ้นแนวระเบียงยุทธศาสตร์ไปด้านบนจะพบกับเมืองขนาดใหญ่คือมิตถิลา ศูนย์กลางกองทัพอากาศ เครื่องบินรบ MIG-29 ปรับย้ายจากฐานทัพอากาศมิงกะลาดง (ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง) เข้ามาที่นี่ เมืองนี้ไม่ไกลจากเนปิดอว์มีการสร้างทางหลวงพิเศษและทางรถไฟพิเศษเชื่อมกับ เนปิดอว์
ขยับขึ้นไปด้านบนคือมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของกองทัพพม่าเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคกลางของ พม่า เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยประชากรพม่า เป็นฐานของกองทหารราบพม่าหลายโซน แม่ทัพที่คุมกองทัพภาคกลางจะมีทหารในสังกัด 17-18 และเรื่อยมาจะมีเมืองสุดท้ายที่อยากกล่าว นี่คือ "West Point" ของกองทัพพม่า จปร. ของพม่า คือเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยป้องกันประเทศ และล่าสุดมีการสร้างเมืองไซเบอร์คล้ายกับซิลิกอนวัลเลย์ในบังกาลอร์ของ อินเดีย หรือไซเบอร์ จายาของมาเลเซีย แต่เป็นโครงสร้างทางการทหาร นั่นคือเมืองเมย์เมียว หรือปยิน อู ลวิ่น 67 กม.จากมัณฑะเลย์
นี่เป็นแนวปราการเหล็กป้องกันกองทัพพม่าที่มีศูนย์กลางที่เนปิดอว์ หากจำลองสถานการณ์ขึ้นมา หากมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น ย่างกุ้งจะเป็นปราการด่านหน้ารับศึกทางทะเล ตองอูจะเป็นจุดยันไม่ให้ข้าศึกล่วงมายังเขตหุบเขาสะโตง เป็นฐานในการรบกับกะเหรี่ยง กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกบล็อกด้วยเมืองตองจี ขณะเดียวกันฐานทัพอากาศที่มิตถิลาจะปกป้องน่านฟ้าของเนปิดอว์เพราะอยู่ไม่ ไกลกัน ยังไม่นับมัณฑะเลย์ และศูนย์ส่งวิทยาการสารสนเทศที่เมเมียว นอกจากนี้ยังมีการก่อตัวของเมืองอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของกองทัพอย่างเมืองแปร ไม่ไกลจากตองอูหรือเนปิดอว์ นี่คือภาพสะท้อนของปราการเหล็กแห่งกองทัพพม่า นั่นคือรัฐบาลพม่าย้ายเมืองนี้ขึ้นไปเพราะตระหนักในคุณค่าทางยุทธศาสตร์ และการโตของเนปิดอว์ทำให้เกิดการโตของเส้นทางการลำเลียงยุทธปัจจัย การส่งกำลังบำรุงจากเนปิดอว์เชื่อมไปเมืองสำคัญต่างๆ สุดท้ายแนววงแหวนทางยุทธศาสตร์จะจำกัดวงและสร้างปราการเหล็กเป็นชั้นๆ เพื่อปกป้องเนปิดอว์ในยามศึกสงคราม
ดังนั้นก่อนที่พม่าจะจัดการเลือกตั้งและเปิดประเทศ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ได้วางแนวปราการเหล็ก ลงหลักปักฐานไว้เรียบร้อยแล้วโดยมีดินแดนหัวใจของกองทัพพม่าอยู่ที่เนปิดอว์ เพราะฉะนั้นการเปิดประเทศของพม่า นัยยะของนักการทหารคือมันจำเป็นต้องเปิด เพราะโลกเปลี่ยน พม่าต้องเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลงของพม่านั้นกองทัพต้องคุมได้เพื่อจัดระเบียบอย่างค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ให้สะเปะสะปะ
แต่การเปิดประเทศพม่า มีทั้งคุณทั้งโทษ โทษสำหรับกองทัพพม่าก็คือมหาอำนาจจะรุกเข้าพม่ามากขึ้น ดังการปรากฏตัวของข่าวจากรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐอาระกัน ซึ่งสหประชาชาติเข้าไปจับตาสถานการณ์ เพราะฉะนั้นในอนาคตพม่าต้องเผชิญปัญหาพวกนี้เยอะ แต่สิ่งที่จะทำให้พม่าจัดระเบียบ วางยุทธศาสตร์ได้อย่างแหลมคมคือการมีปราการเหล็กหรือกล่องดวงใจที่เข้มแข็ง ที่ยากต่อการต่อรบและชิงชัยนั่นคือการเนรมิตกรุงเนปิดอว์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นในอนาคตผมคิดว่ามหาอำนาจเข้าพม่าเยอะ พม่าอาจจะปั่นป่วน พม่าจะได้ประโยชน์มากมายมหาศาลในระยะแรกๆ แต่ระยะหลังๆ ความสุ่มเสี่ยงจะเกิดขึ้น แต่คุณค่าทางยุทธศาสตร์ที่จะตีโต้หรือรั้งตรึงก็คือการมีปราการเหล็กที่กรุง เนปิดอว์



ที่มาของภาพปก: map.google.com และ http://www.flickr.com/photos/axelrd/7826623684/ (flickr.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น